หมอธีระ ยกผลวิจัยชี้ โอมิครอน BQ.1.1 – XBB ดื้อภูมิคุ้มกัน

หมอธีระ โพสต์เฟซบุ๊กยกผลวิจัยชี้ โอมิครอน สายพันธุ์ BQ.1.1 และ XBB ดื้อภูมิคุ้มกัน

24 ต.ค. 65 หมอธีระ หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึง โควิด สายพันธุ์ BQ.1.1 และ XBB โดยระบุว่า

ย้ำมาหลายครั้งว่า BQ.1.1 และ XBB ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของ โอมิครอน ที่ได้รับการประเมินจากทั่วโลกว่าจะนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ในปลายปีนี้ โดยเหตุผลหลักที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วคือ การดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และความสามารถในการขยายการระบาดสูงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดมาก่อน ทั้ง BA.2 และ BA.5

XBB ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด ในขณะที่ BQ.1.1 ก็ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากเช่นกัน ล่าสุด Cao Y และคณะจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อคืนนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า ทั้ง BQ.1.1 และ XBB นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันอย่างมาก

ทั้งนี้ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นว่า ระดับภูมิคุ้มกันจากคนที่เคยฉีดวัคซีน CoronaVac 3 เข็ม และเคยติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน BA.1 มาก่อนนั้น ไม่เพียงพอที่จะจัดการกับ BQ.1.1 และ XBB ได้

หมอธีระ ระบุด้วยว่า แม้คนที่ฉีดวัคซีนและติดเชื้อมาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปเกิน 6 เดือน (7.5 เดือน) ระดับภูมิคุ้มกันก็จะลดลงมากอย่างชัดเจน โดยผลการศึกษาของทีมมหาวิทยาลัยปักกิ่งนี้ ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

หนึ่ง การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องจำเป็น และจะลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อติดเชื้อลงไปได้มาก

สอง ประเทศต่างๆ ควรจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่ชนิด bivalent vaccines ที่กระตุ้นภูมิคุัมกันได้ดีขึ้น เพื่อให้แก่ประชาชนอย่างทันท่วงที

ยืนยันอีกครั้งว่า ไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

ติดเชื้อนั้น ไม่จบแต่ชิลๆ แล้วหาย แต่มีโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ และที่สำคัญคือเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ระยะยาว

การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ไปได้บ้าง แต่ประสิทธิภาพจะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป

ดังนั้นพฤติกรรมป้องกันตัว ใส่ใจสุขภาพของตนเอง อย่างเป็นกิจวัตร เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ ควบคู่ไปกับการไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพ

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด หมอธีระ ระบุในตอนท้าย

คลิปแนะนำอีจัน
กลับบ้านกับแม่นะ “นกน้อย” ตัวตึงระยอง