ก่อนจะนวด ต้องรู้จักร่างกาย นวดมั่วไม่ได้ อันตรายมาก

เปิดคัมภีร์ ร่างกายคนมีจุดอ่อนจุดเเข็ง ก่อนจะนวด ต้องรู้จักกายวิภาค นวดมั่วไม่ได้ พลาดนิด ถึงชีวิตได้

#อีจันปั้นมือนวดEP1

ก่อนที่เราจะนวดใคร ไม่ใช่มือหนัก นวดได้ ก็จะไปนวดให้คนอื่นไปทั่ว เพราะศาสตร์ของการนวดละเอียดอ่อนมากๆ

เจ็บป่วยอาการเดียวกัน เเต่ใช้วิธีนวดต่างกันก็มีนะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าการนวด คือการรู้จักสรีระเเละร่างกายคน

การนวดไทยนับเป็นวิธีธรรมชาติบำบัดที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเรามาช้านาน สามารถนำมารักษาตนเองหรือคนรอบข้าง บางคนต่อยอดเป็นอาชีพได้

พื้นฐานก่อนนวดที่เราควรรู้ประการแรก คือ ส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เรียกว่า กายวิภาคศาสตร์ หมายถึง ต้องรู้ว่ารูปร่างหน้าตาของอวัยวะเป็นอย่างไร ส่วนไหนคืออะไร เราจะรู้แบบปัจจุบันหรือแบบไทยเดิมก็ได้ ถ้าไม่รู้ก็คงต้องจำจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาซึ่งอาจผิดพลาดหรือเพี้ยนได้

– ต้องรู้เรื่องสรีรวิทยา คือ หน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ว่าทำงานได้แค่ไหนอย่างไร เช่น ข้อ ถ้าแผนปัจจุบันก็ว่าเคลื่อนไหวได้เท่าไร กี่องศา ขึ้นลงได้แค่ไหน สำหรับแผนไทยเดิมเขารู้ว่าข้อไหนจะเคลื่อนไหวได้ในขอบเขตจำกัดเพียงใด เช่น งอเข่า จะงอได้แค่ไหน ถ้าเข่างอติดกันได้ ก็สามารถนั่งยองๆ ได้ ถ้างอไม่ติดก็จะมีทางนั่งได้เลย เป็นต้น

เเละเมื่อรู้จักร่างกายเเล้ว ก่อนที่จะลงมือนวดรักษาต้องรู้ว่า คนที่จะนวดในการรักษาโรค ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าเป็นโรคอะไรก่อน จะได้นวดถูกจุด ไม่อย่างนั้น จะกลายเป็นการเหวี่ยงแห ทำให้เราจะต้องมีการวิเคราะห์โรคก่อนว่า เป็นโรคอะไร โดยอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย

เนื่องจากการรักษาแผนไทยเดิมไม่มีห้องปฏิบัติการ เพราะฉะนั้นการซักประวัติและตรวจร่างกาย จึงต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก จึงจะได้ข้อมูลว่าคนนั้นเป็นโรคอะไร สาเหตุจากอะไร ตำแหน่งที่เป็น ระยะที่เป็น เช่นเป็นมานานเท่าไร ตอนเริ่มเป็นอยู่ เป็นทันที หรือค่อยๆ เป็นทีละน้อย การดำเนินโรคที่ผ่านมามันทุเลาเองได้ไหม หรือต้องทำอย่างไรถึงทุเลา

สิ่งสำคัญต่อมา คือ คำแนะนำ มีความสำคัญมาก คือว่าควรปฏิบัติตัว อย่างไรถ้าไม่มีคำแนะนำที่ดี เป็นแล้วก็เป็นอีก น่ารำคาญมาก คำแนะนำก็มี 2 อย่างคือ

1. สิ่งที่ควรกระทำ

2. สิ่งที่พึงละเว้น (ของแสลง)

สิ่งที่ควรกระทำ เช่น ตอนนี้ควรจะออกกำลังหรือไม่เพียงใด ต้องออกกำลังพอเหมาะ คือ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ก้มมากๆ ไม่เคยเงย ก็ต้องออกกำลังคอหรือหลังบ้าง

สิ่งที่พึงละเว้น หมอแผนไทยเดิมมักจะห้าม หน่อไม้ ข้าวเหนียว ยาแก้ปวด ของดอง เหล้าเบียร์ เพราะมักกินเข้าไปแล้วจะทำให้อาการเป็นมากขึ้นหรือกลับมาเป็นอีก เรื่องนี้คนไข้ต้องสังเกตด้วยตัวเอง ก่อนที่จะมีอาการเขากินาอะไร และมีอาการรุนแรงหรือรักษาหายแล้วไปกินอะไรเข้าก็มีอาการกลับมาอีก เมื่อทราบแล้วจะต้องงดกินของนั้นๆ

ปกติเเล้วการนวดโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1. การนวดเฉพาะส่วนที่เป็น

2. นวดที่อื่นเพื่อส่งผลไปยังบริเวณที่เป็น

นวดเฉพาะส่วนที่เป็น เช่น เวลาปวดเมื่อยที่คอหรือลังแล้วนวดบริเวณที่ปวดเมื่อยนั้นเลย

นวดที่อื่นเพื่อส่งผลยังบริเวณที่เป็น เช่น บางคนปวดหลังก้มไม่ได้หรือก้มได้นิดเดียว หลังแข็ง พอพิคราะห์โรคแล้ว นวดที่ก้านคอกับไหล่เท่านั้น ไม่ต้องนวดลงหลังเลย ปรากฏว่าคนไข้ก้มได้เป็นปกติ

ในกรณีที่นิ้วหัวแม่มือเจ็บเหยียดไม่ได้ ถ้ามีการอักเสบ ตอนแรกเขาก็ไม่นวดที่นิ้วเลย เขาจะนวดที่ต้นแขนด้านหน้าหรือปลายข้อศอกลงมา เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงจุดเจ็บก่อน พออาการเจ็บดีขึ้นก็ค่อยนวดที่หัวแม่มือ ซึ่งก็เป็นการนวดเฉพาะที่โดยตรง นับเป็นการนวดผสมผสานทั้ง 2 ลักษณะ

หลักการนวดโดยทั่วไปที่ได้รวบรวมไว้คิดว่าควรมีดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

1. ตำแหน่งนวด (จุดนวด)

เป็นตรงไหนควรจะนวดจุดไหน เรื่องนี้ขึ้นกับการวิเคราะห์โรคให้ถูก วิเคราะห์ไม่ถูกก็จะนวดไม่ถุกจุด

2. ท่านวด

หมายถึงท่าของทั้งหมอและคนไข้ ต้องคิดดูว่าคนไข้ควรจะนั่ง นอนหงาย หรือนอนตะแคงนวดถึงจะดี สำหรับการนอนคว่ำนวดคงจะไม่เหมาะ อย่างเช่น คนอ้วนจะติดที่พุง หรือผู้หญิงจะติดที่หน้าอก ท่านวดนี้จะรวมไปถึงองศาที่ตัวหมอทำกับคนไข้ ที่สำคัญต้องอยู่ในท่าที่สบายทั้งหมอและคนไข้

3. แรงที่ใช้นวด

เราควรเริ่มต้นจากน้อยไปก่อน และค่อยๆ เพิ่มขึ้น การออกแรงนวดนี้เป็นความรู้สึกละเอียดอ่อน จะบอกว่าเป็นโรคนี้ต้องใช้แรงเท่านี้ไม่ได้ เพราะคนไข้คนเดียวแต่ในระยะเวลาที่ต่างกันก็อาจต้องใช้แรงที่ต่างกันไปด้วย

4. เวลาที่ใช้นวด (แต่ละจุด)

เราต้องทราบว่าจะนวดอยู่นาน หรือนวดเพียงระยะสั้น และเวลาปล่อยจะต้องค่อยๆ ปล่อย ใช้เวลาเท่าไร ไม่ใช่กดปุ๊บปล่อยปั๊บเพราะคนไข้จะระบม

5. นวดที่ไหน (ก่อน-หลัง)

จะกดนวดบริเวณใดก่อนเช่น ตรงคอไหล่เรียงไปตามตำแหน่ง 1 2 3 4 หรือจะเป็น 4 3 2 1 ต้องรู้เช่นกันว่านวดอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด

6. การนวดซ้ำในแต่ละคราว

เมื่อนวด 1 2 3 4 ไป 1 รอบแล้ว ต้องนวดอีกกี่รอบ อาจเป็น 2 รอบ หรือ 3 รอบ ต้องรู้หรือพิจารณาให้เหมาะสม มิฉะนั้นคนไข้อาจจะระบม

7. นวดกี่ครั้งจึงหาย

หมอที่ชำนาญจะบอกอาการได้ว่าอาการอย่างนี้นวดกี่ครั้งหาย คนไข้ไม่ว่าจะรักษาแผนไหนก็ตามอยากรู้ว่าตนเป็นอะไร นานแค่ไหนกว่าจะหาย สิ่งนี้สำคัญมากที่หมอต้องทราบและบอกคนไข้ได้

8. ระยะถี่ห่าง

กี่วันคนไข้ถึงต้องไปหาหมอครั้งหนึ่ง เป็นสิ่งที่คนไข้อยากทราบเช่นกัน ไม่ใช่นวดทุกๆ วัน คนไข้อาจระบม บางครั้งต้องหยุดให้เวลาร่างกายรักษาตนเองบ้างเพราะธรรมชาติเป็นอย่างนั้น จึงอาจนวดครั้งหนึ่งแล้วเว้นไปสัก 2-3 วัน เป็นต้น

9. ผลดีผลเสีย

เมื่อเราตรวจตามขั้นตอนแล้วจะต้องพิจารณาว่าเมื่อนวดแล้วจะมีผลดีผลเสียแค่ไหน ถ้าดี ดีเพียงไร เช่นทำ 3 ครั้งพอหรือ 3 ครั้งมากไป ผลเสียก็ต้องคิดเช่นกันไม่ใช่นวดแล้วขออีกนิด นวดมากไปจนคนไข้ได้รับอันตราย เราจะทำอะไรต้องรอบคอบมีสติสัปชัญญะอยู่เสมอ

10. ข้อควรระวัง

ทั้งคนไข้และหมอเช่น ถ้าหมอเป็นโรคติดต่อ ก็ไม่ควรไปนวด คนไข้เป็นโรคติดต่อก็ควรรักษาให้หายก่อนจึงไปนวด หรือจุดนวดบางจุด เช่น บริเวณไหปลาร้าหรือใต้รักแร้ ถ้ากดนวดนานไปจะเกิดอันตรายต่อคนไข้ก็ต้องระวัง

11. ข้อห้าม (คนไข้, หมอ)

ทำอะไรต้องมีข้อห้าม อย่างเช่น คนไข้เป็นไส้ติ่งอักเสบ ถ้าไปกดท้องไส้ติ่งแตกคนไข้ก็อาจตายได้ หรือโรคบางโรคไตหย่อนยานลงมา เราไปกดก็อาจเป็นอันตรายต่อคนไข้ได้ เป็นต้น สำหรับหมอ ถ้าไม่แข็งแรงเพราะป่วยหรือเพิ่งหายไข้ ก็ไม่ควรออกแรงนวดคนไข้เช่นกัน

12. จริยาธรรม

แน่นอนที่สุดอาชีพใดไม่มีจริยธรรมควบคู่กันไปไม่ช้าก็ต้องพินาศ เราต้องรู้ตลอดเวลาว่าเราจะไม่หลอกคนไข้ ไม่ลวนลามคนไข้หญิงด้วยกาย วาจา ใจ เป็นต้น

ทั้ง 12 ข้อนี้ก็เป็นหลักย่อยๆ สำหรับพื้นฐานของการนวดไทย

การนวดมีข้อที่ต้อวระวังมาก เเต่ทางเดียวกัน ก็มีประโยชน์มากๆเช่นกัน

– ช่วยให้การทำงานหรือหน้าที่ของหัวใจดีขึ้น

– ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองดีขึ้น

– ลดอาการบวมและการอักเสบ

– เพิ่มประสิทธิภาพและระยะเวลาการทำงานของกล้ามเนื้อ

– ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลาย

– เพิ่มความตึงตัวของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ กระเพาะอาหาร และลำไส้ เมื่อการบีบตัวขึ้นก็ทำให้เจริญอาหาร ท้องไม่อืดไม่เฟ้อ

– ทำให้อารมณ์ดี แจ่มใส

– ลดความเครียด และคลายกังวล

การรู้ร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ ที่ใครที่อยากนวดต้องรู้ก่อน เพราะหากพลาด อาจเกิดข้อเสียมากกว่าข้อดีก็ได้