สงขลา อ่วม! “พิษสุนัขบ้า” ระบาดหนัก ผู้ว่าฯ ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาด

“พิษสุนัขบ้า” ระบาดหนัก สงขลาประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาด แพทย์ ชี้ ยังไม่มีทางรักษา ถ้าติดเชื้อและแสดงอาการแล้ว เสียชีวิตทุกราย

ไปไหนมาไหนระวังกันด้วยนะคะ ช่วงนี้ “พิษสุนัขบ้า” ระบาดอีกแล้วค่ะ ล่าสุด นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ออกประกาศให้จังหวัดสงขลาเป็นเขตเฝ้าระวังพิษสุนัขบ้า หลังพบหลายอำเภอในจังหวัดสงขลา เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ที่อาจนำไปสู่โรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน มักพบโรคในสุนัข, แมว, โค และในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ 

โดยวานนี้ (20 มี.ค.67) ทางเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนบน รายงานว่า พบโรคพิษสุนัขบ้าในลูกสุนัขจรจัด เพศเมีย อายุประมาณ 5 เดือน มีถิ่นอาศัยบริเวณริมชายหาดสมิหลา ต่อกับหาดชลาทัศน์ ถ.แหลมสนอ่อน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งสุนัขดังกล่าวไม่เคยทำวัคซีน มีนิสัยเปลี่ยนไป เริ่มดุร้าย และไล่กัดคนที่สัญจรไปมาอย่างน้อย 1 คน และตายหลังจากนั้น 3 วัน ผู้ให้อาหารแจ้งว่าสุนัขฝูงนี้มีสมาชิกประกอบด้วย ลูกสุนัขร่วมครอก 8 ตัว และสุนัขโตเต็มวัยรวมทั้งแม่สุนัขอีก 4 ตัว โดยลูกสุนัขเริ่มทยอยป่วยตายในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา และสุนัขโตหายไป 2 ตัว ปัจจุบันเหลือสุนัข 3 ตัว ประกอบด้วย แม่สุนัข สุนัขโต และลูกสุนัข ก่อนตายสุนัขคลุกคลีใกล้ชิดและกัดกับสุนัขร่วมฝูงที่เหลือ รวมทั้งสุนัขในพื้นที่ข้างเคียง 

ซึ่งการเกิดโรคครั้งนี้ อาจเป็นการระบาดที่ต่อเนื่องจากจุดเกิดโรคบริเวณฐานทัพเรือเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จุดเกิดโรคครั้งนี้อยู่ในแหล่งชุมชนเมือง พื้นที่เสี่ยง 5 กม. รอบจุดเกิดโรคครอบคลุมวัด สถานศึกษา และตลาด กว่า 50 แห่ง รวมทั้งเขาตังกวนซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของลิง  

นอกจากนี้ ทางกรมควบคุมโรค รายงานว่า นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้าไว้ว่า โรคดังกล่าวสามารถพบได้ตลอดทั้งปี และยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและแสดงอาการแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 66 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย (จังหวัดชลบุรี 2 ราย สุรินทร์ 2 ราย สงขลา 1 ราย และระยอง 1 ราย)  

ระมัดระวังกันด้วยนะคะ หมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงอยู่เรื่อยๆ หากพบว่าสัตว์เลี้ยง มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และช่วยกันจับอย่างระมัดระวังอย่าให้ถูกกัดหรือข่วน จากนั้นกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์หรือตัวสัตว์ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422 

ขอบคุณข้อมูลจาก: กรมควบคุมโรค, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนบน