ศธ.ร่วม ยูนิเซฟ ประเทศไทย หนุนแก้ด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เผยแนวทางด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา ด้วยแนวคิด The Safe to Learn Call to action in Thailand

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผย แนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา ด้วยแนวคิด The Safe to Learn Call to action in Thailand หรือ ความปลอดภัยเพื่อการเรียนรู้

โดยการนำเสนอครั้งนี้เรื่องโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่เรียกว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child : UNCRC) ที่พูดถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียน สาระสำคัญของข้อกำหนดมีดังนี้

ข้อที่ 19 ต้องมีกรอบนโยบายที่ชัดเจน คุ้มครองเด็กทุกคนด้วยมาตรการทางกฎหมาย การบริหารสังคม การศึกษาที่เหมาะสม ต้องไม่ถูกละเลย ไม่ถูกการล่วงละเมิด ไม่มีความรุนแรง และต้องไม่มีการแสวงประโยชน์ทุกรูปแบบ

ข้อที่ 28/29 จะต้องสร้างโอกาสที่เท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ข้อที่ 33 ป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของการใช้สารเสพติดหรือยาเสพติดต่างๆ

สำหรับแนวคิด The Safe to Learn Call to action in Thailand หรือ ความปลอดภัยเพื่อการเรียนรู้ นอกจากหลักการแล้ว จะเป็นยุทธ์ศาสตร์ด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะสามารถนำไปทำได้จริง ด้วยการเริ่มจากวิสัยทัศน์เบื้องต้น ต่อมาเป็นยุทธ์ศาสตร์ที่จะทำอย่างไรในภาพรวม มีเป้าหมายอะไรบ้าง ซึ่งแยกออกมาเป็น 5 เป้าหมาย ดังนี้

1. จะต้องมีนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนในสังคม รวมไปถึงสังคมในโรงเรียนด้วย

2. จะต้องมีการป้องกันและการช่วยเหลือในระดับโรงเรียน

3. จะต้องช่วยกันสร้างบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น

4. บริหารการลงทุนและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

5. เรียนรู้ปัญหาที่ผ่านมา เพื่อที่จะไม่ต้องวิ่งตามปัญหาอีก และช่วยกันในการสร้างหลักฐาน สร้างข้อมูล

ดร.ธีร์ ยังกล่าวอีกว่า กระบวนการจัดการเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อประคองเด็กให้อยู่รอดกับระบบต่อไปได้ และให้เคลื่อนตัวต่อไปได้ แม้ว่าจะอืดอาดหรือล่าช้าอย่างไรก็ตาม

อีกทั้ง ตอนนี้ที่เกิดภาวะ Learning Loss ซึ่งอาจใช้เวลาในการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ที่จะฟื้นฟูนักเรียน จึงเป็นภารกิจร่วมกันของกระทรวงศึกษาธิการ โดยกลไกสำคัญคือระดับจังหวัดต่างๆ เพราะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหา

โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของสุขภาพจิตของเด็กและสุขภาวะทางจิตสังคม มุ่งเน้นให้ครูเป็นมิตรกับเด็กมากขึ้น ร่วมไปถึงผู้บริหารระดับสูงก็สามารถช่วยได้ เช่น การออกนโยบายให้เป็นมิตรกับเด็กมากขึ้น หรืออาจจะมีกลไกบางอย่างที่ช่วยในการรายงานเหตุหรือป้องกันเหตุ

ในขณะเดียวกัน ครูในโรงเรียนเองก็ควรที่จะสังเกตปัญหา ฟังนักเรียน ช่วยเหลือนักเรียน ไม่ใช่ตำหนิ ไม่ใช่ดุด่า เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่ามีคนคอยดูแลอยู่ข้างหลัง ช่วยแก้ปัญหา

ซึ่งการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเพื่อการเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็น ถึงแม้จะเริ่มที่โรงเรียนที่เป็นจุดเล็กก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมอบหมายงานให้ครูเล็กครูใหญ่ทำ สุดท้ายแล้วก็จะต้องช่วยกันทั้งองคาพยพ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และอื่นๆ

ทั้งนี้ ถ้านักเรียนรู้สึกมั่นใจ รู้สึกปลอดภัย ก็จะสามารถเรียนได้ดีขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น ก็จะเติบโตเป็นบุคคลคุณภาพของสังคมต่อไป

คลิปแนะนำอีจัน
นาทีช่วยชีวิตนักเรียน รถรับส่งติดกระแสน้ำหลาก!