จีน-ไทย ร่วมมือผลักดันเศรษฐกิจ-ขยายโอกาสทางธุรกิจ

จีน-ไทย ร่วมผลักดันเศรษฐกิจ-ขยายโอกาสอันดีทางธุรกิจ พร้อมกระชับความร่วมมือในภูมิภาค

วานนี้ 4 ต.ค. 2562 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า

จีนและไทยเจริญสัมพันธ์ฉันท์มิตรและมีความร่วมมือทางการค้ากันมาเนิ่นนาน และขณะนี้ประเทศทั้งสองกำลังแสวงหาหนทางสานต่อการพัฒนาในความสัมพันธ์ พร้อมกระชับความร่วมมือในภูมิภาค
การค้าทวิภาคีของสองประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2019 มีมูลค่าถึง 6.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปี 2018 และมีตัวเลขสินค้านำเข้าและส่งออกจากจีนไปยังไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.8 และร้อยละ 1.2 ตามลำดับ

ภาพจากอีจัน

หยวนโป นักวิจัยจากสถาบันการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือ ซีเอไอทีเอซี (CAITEC) สังกัดกระทรวงพาณิชย์ของจีน ระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ด้านการค้าของจีนกับไทยมีเสถียรภาพ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความสัมพันธ์ฉันมิตรอันยาวนานระหว่างสองประเทศ และความตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน หรือ ซีเอเอฟทีเอ (CAFTA)

ภาพจากอีจัน

นอกจากนี้ จีนและไทยยังได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับการค้าผักและผลไม้ ตามข้อตกลงเจรจาว่าด้วยสิทธิพิเศษด้านภาษีที่เกี่ยวข้องภายใต้ซีเอเอฟทีเอ ตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งเป็นเวลา 7 ปี ก่อนการก่อตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนในท้ายที่สุด

รายงานของไทยระบุว่า นโยบายภาษีเป็นศูนย์ดังกล่าว ผลักดันปริมาณการค้าการส่งออกผักและผลไม้ของไทยไปยังจีนเมื่อปี 2018 ให้เพิ่มขึ้นสู่ 1.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.8 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า จากปี 2002

การลงทุนระหว่างประเทศทั้งสองก็กำลังเติบโตด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มบริษัทไทยเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน ช่วงระยะแรกที่จีนเปิดประเทศ ในขณะเดียวกันเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนก็กำลังกลายเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญสำหรับไทย

ข้อมูลทางการเปิดเผยว่าเมื่อปี 2018 ปริมาณการลงทุนทางตรงของจีนมายังไทยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน อยู่ที่ 640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.93 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 จากปีก่อนหน้า

ภาพจากอีจัน

นิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน จังหวัดระยอง (Thai-Chinese Rayong Industrial Zone) แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศทั้งสอง โดยเมื่อสิ้นปี 2018 นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวมีบริษัทต่างๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตราว 120 บริษัท ทั้งยังมีลูกจ้างชาวไทยทำงานอยู่ในนิคมฯ มากกว่า 32,000 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 ของแรงงานในนิคมฯ

เนื่องจากแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือบีอาร์ไอ (BRI) ค่อยๆ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้ความพยายามของไทยในการดำเนินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) นำไปสู่นิคมอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และถือเป็นการเชื้อเชิญจีนและนานาประเทศให้เข้ามาลงทุน

ในการประชุมความร่วมมือการตลาดฝ่ายที่สามซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการจากจีน ญี่ปุ่น และไทย ได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม และเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนความร่วมมือในอีอีซี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

“บริษัทจีนเป็นผู้เล่นรายสำคัญที่เข้ามาลงทุนในอีอีซี” ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าว

ดร.ไพจิตรระบุว่าหัวข้อใหม่ๆ ในความร่วมมือจีน-ไทยในอีอีซีนั้น มีทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง พาณิชย์ดิจิทัล และยานยนต์ หยวนโป นักวิจัยจากซีเอไอทีเอซีระบุว่า “ความร่วมมือจีน-ไทยถือเป็นความร่วมมือจีน-อาเซียนแบบย่อส่วน”

จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2019 ปริมาณการลงทุนทวิภาคีระหว่างจีนและอาเซียน มีมูลค่าถึง 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.94 ล้านล้านบาท)
ดร.ไพจิตรระบุว่าบีอาร์ไอจะกระชับความสัมพันธ์อาเซียนและจีนให้ใกล้ชิดกว่าเดิม และเอื้อให้ประชาชนทั้งสองภูมิภาคสื่อสารและเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อประชาชนชาวจีนและอาเซียนมีความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก www.xinhuathai.com