สภาพัฒน์ จ่อทบทวนเกณฑ์คุม “อินฟลูเอนเซอร์” หลังเจอคอนเทนต์เชิงลบ

สภาพัฒน์ จ่อทบทวนเกณฑ์คุม “อินฟลูเอนเซอร์” เทียบ ต่างประเทศ หลังเจอคอนเทนต์เชิงลบ สร้างกระแส

ยุคนี้จะเห็นว่ามีอินฟลูเอนเซอร์เยอะมาก มีทั้งคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ และคอนเทนต์เชิงลบเพื่อสร้างกระแส อย่าง อวดรวย ข่าวปลอม ชวนเล่นพนันออนไลน์ ล่าสุดทางสภาพัฒน์ จึงจ่อทบทวนเกณฑ์คุม อินฟลูเอนเซอร์โดยอาจศึกษาจากเคสของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศ 

วันนี้ (4 มี.ค.67) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 และภาพรวมปี 2566 โดยได้มีการพูดถึงเรื่องอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ข้อมูลจาก Nielsen ในปี 2565 พบว่า ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีอินฟลูเอนเซอร์รวมมากถึง 13.5 ล้านคน โดยประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย 

ซึ่งการขยายตัวของอินฟลูเอนเซอร์ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งจากการโฆษณาหรือรีวิวสินค้า โดยในปี 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี 

สำหรับไทยอินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูง เฉลี่ยโพสต์ละ 800 – 700,000 บาทขึ้นไป อย่างไรก็ตาม การแข่งขันผลิตคอนเทนต์ และการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม (Engagement) ของอินฟลูเอนเซอร์มักมีการสร้างคอนเทนต์ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึ่งถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เช่น การนำเสนอข้อมูลปลอม หรือบิดเบือน, การชักจูง ชวนเชื่อในเรื่องที่ผิดกฎหมาย, การละเมิดสิทธิใช้ภาพผู้คนหรือวิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อลงคอนเทนต์ของตน โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา, คอนเทนต์อวดรวย เป็นต้น 

ซึ่งคอนเทนต์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเชิงลบของอินฟลูเอนเซอร์ต่อสังคมหลายแง่มุม ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะ Influencer อย่างชัดเจน เช่น จีน ห้ามเผยแพร่คอนเทนต์อวดรวย และการใช้ชีวิตหรูหราเกินจริง, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาสื่อแห่งชาติ (NMC) เพื่อป้องกันการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย, นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร กำหนดให้ อินฟลูเอนเซอร์แจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย พร้อมแสดงเครื่องหมายกำกับ เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน 

สำหรับไทยเรา ขณะนี้มีกฎหมายควบคุม อาทิ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อปัจจุบัน แต่ยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน  

นอกจากนี้ แนวทางการกำกับดูแลส่วนใหญ่เน้นไปที่การตรวจสอบ เฝ้าระวังการนำเสนอ และการตักเตือน แก้ไข ซึ่งหากไทยจะขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหาของสื่อกลุ่มต่างๆ โดยอาจศึกษาจากกรณีตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมต่อไป 

ลูกเพจมีความคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับเรื่องนี้คะ ต่อไปอาจจะไม่ใช่ใครจะมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้แล้วนะคะ 


คลิปอีจันแนะนำ

สาวพิการแขนลีบตั้งแต่เกิด ถูกด้อยค่าตั้งแต่เล็กจนโต