ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ไม่รับฟ้อง! รัชฎา ฟ้อง จนท.บุกจับส่วยในห้องทำงาน

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ไม่รับฟ้อง นายรัชฎา ฟ้อง ผบก.ปปป.กับพวก ปมบุกจับส่วยในห้องทำงาน ทนายความเผย เตรียมยื่นอุทธรณ์

หลังจากที่นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กับพวกรวม 7 คน และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. รวมทั้งชุดจับกุม ปม บุกจับส่วยอุทยานคาห้องทำงาน ซึ่งศาลฯ ได้นัดไต่สวนมูลฟ้องไปเมื่อวานนี้ (29 พ.ค. 66) นั้น

นายรัชฎามาตามนัดศาล เพื่อไต่สวน ปม ฟ้องชัยวัฒน์ แจ้งความเท็จ

วันนี้ (30 พ.ค. 66) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท.23/2566 ระหว่าง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา โจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน จำเลย ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดต่อเสรีภาพ, ทำพยานหลักฐานเท็จ, เจ้าพนักงานกลั่นแกล้งให้ต้องรับโทษ, บุกรุก และซ่องโจรฯ

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่มีการเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 7 เข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เกี่ยวกับพฤติการณ์ทุจริตของโจทก์ที่ป.ป.ช. สืบสวนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เชื่อว่าคดีน่าจะมีมูลแต่ยังปราศจากหลักฐานที่จะดำเนินคดีจึงประสานมายัง บก.ปปป. เพื่อดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 วางเผนตรวจค้นจับกุมโจทก์ตามที่ได้รับการประสานมาจากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ซึ่งเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของโจทก์ ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ และไม่ใช่เป็นการร่วมกันก่อหรือพยายามให้โจทก์กระทำความผิด และขณะที่จำเลยที่ 7 เข้าไปพบโจทก์ที่ห้องทำงานของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมหน่วยงานอื่นติดต่อสื่อสารกับจำเลยที่ 7 ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยการโทรแบบกลุ่มทำให้ได้ยินการสนทนาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 7 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกรับเงินและได้ยินจำเลยที่ 9 พูดคำว่า “อุบล” ซึ่งเป็นสัญญาณว่าโจทก์ได้รับเงินที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้แล้ว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เข้าไปยังห้องทำงานของโจทก์ในทันที และตรวจค้นพบซองบรรจุเงินรวม 98,000 บาท ที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้โจทก์อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของโจทก์ กรณีจึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าโจทก์ได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ ทั้งมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ เงินที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้นั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีอำนาจตรวจค้นจับกุมโจทก์โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1) และมาตรา 92 (2) (4) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากที่โจทก์แถลงต่อศาลในชั้นตรวจฟ้องว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีรายชื่อในบันทึกการจับกุมท้ายฟ้อง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะชี้ให้เห็นว่าการเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ครั้งนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้กระทำโดยมีเจตนาเพื่อที่จะกลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษตามที่โจทก์อ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 ทั้งไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179 มาตรา 210, 310, 364 และ 365 จำเลยที่ 7 จึงไม่อาจเป็นผู้สนับสนุนและผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6ตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากที่โจทก์แถลงต่อศาลในชั้นตรวจฟ้องว่า นอกจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีชื่ออยู่ในบันทึกการจับกุมแล้ว ยังมีบุคคลอื่นอีกหลายคนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ขณะจับกุมโจทก์ โดยฝ่ายของโจทก์มีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ซึ่งได้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นจับกุมด้วยเช่นกัน แต่โจทก์ไม่ได้ชี้ช่องพยานหลักฐานให้เห็นว่าวิดีโอบันทึกภาพและเสียงที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตาม

มาตรา 164 ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 79 นั้น เมื่อการเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก็โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการทุจริตในวงราชการ ดังนั้น การจัดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงขณะเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ด้วยการบันทึกวิดีโอเป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงเป็นพยานหลักฐาน เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดซึ่งมีโทษทางอาญาจึงถือเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 4 (5) มิให้นำพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่การดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา นายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทนายความของ นายรัชฎา เปิดเผยว่า วันนี้ศาลไม่รับคำฟ้อง โดยศาลพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามการทำตามอำนาจหน้าที่ ในการเข้าจับกุมในครั้งนั้น ตามคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การในชั้นศาล ส่วนรายละเอียดอยู่ระหว่างทางทีมทนายความขอคัดถ่ายคำสั่งจากศาล และจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลภายใน 30 วัน ซึ่งศาลจะรับหรือไม่รับฟ้องให้เป็นไปตามอำนาจของศาล ยืนยัน นายรัชฎา ไม่กังวลเพราะมองว่าเป็นไปตามกฎหมายสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามสิทธิ์

ทนายคาวมของรายรัชฎา ยังกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ศาลยกคำฟ้องในวันนี้ไม่มีผลกระทบกับคดีที่นายรัชฎาถูกดำเนินคดี ในเรื่องของการเรียกรับสินบน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และยังไม่มีการสรุปสำนวนส่งฟ้องต่อศาล ส่วนคดีที่มีการฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยาน กับพวก รวม 7 คน ที่ศาลอาญา อยู่ระหว่างการนัดไต่สวนมูลฟ้อง ถึงที่มาของเงินล่อจับนายรัชฎา

คลิปอีจันแนะนำ
เหตุการณ์ในห้องอธิบดีอุทยานฯ ขณะ ปปป. ปปช. ตรวจสอบ ปม เรียกรับเงินลูกน้อง