อช.ทับลาน ตั้ง ชุดเฉพาะกิจ ผลักดันสัตว์ป่า หลังอาละวาด บุกหมู่บ้านบ่อย

สัตว์ป่า อาละวาดหนัก บุกหมู่บ้านใกล้ป่า หลัง ประชากรเพิ่มขึ้น ล่าสุด หัวหน้า อช.ทับลาน ตั้ง ชุดเฉพาะกิจ ผลักดันสัตว์ป่า

วันนี้ (2 มี.ค. 66) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลจระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน พร้อมเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิ Nature Wildlife Foundation (NWA) เชิญกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังป้องกันสัตว์ป่า ออกจากพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่ติดกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานของจังหวัดนครราชสีมา 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ครบุรี อ.เสิงสาง และอ.วังน้ำเขียว ร่วมกำหนดแนวทางป้องกันสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ป่า และเข้าไปทำลายผลผลิตทางการเกษตร ทรัพย์สิน รวมถึง ความปลอดภัยของประชาชน หลังจากที่เกิดปัญหาสัตว์ป่าจากอุทยานแห่งชาติทับลาน ออกนอกพื้นที่และสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง  โดยมีเครืออาสาสมัคร จากทั้ง 3 อำเภอ เข้าร่วมรับฟังและชี้แจงปัญหาอย่างพร้อมเพียง

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกันว่า  ปัญหาสัตว์ป่าออกมาหากินนอกเขตป่าอนุรักษ์โดยเฉพาะช่วงป่าในขณะนี้ ถือเป็นปัญหาที่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศแล้ว เพราะฉะนั้น กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้จัดให้ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับต้นๆ ที่ต้องเร่งแก้ไข  เพื่อคลี่คลายปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเน้นการสร้างเครือข่ายแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน  ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จนส่งผลกระทบทำให้สภาพป่าต่างๆ ได้รับผลกระทบ  อีกทั้งสภาพป่าหลายแห่งเริ่มกลับคืนสู่ความเป็นป่าดิบ จึงทำให้แหล่งอาหารของสัตว์ อย่างทุ่งหญ้าต่างๆ ลดน้อยลง

ขณะนี้ทางอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้เอาไว้ 3 อย่าง ได้แก่

1. ดึงดูด หมายถึงการหาวิธีที่จะดึงดูดสัตว์ให้อาศัยอยู่กลางป่า อย่างการเพิ่มแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร รวมถึง ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่สัตว์ป่าต้องการ

2. การป้องกัน อย่างเช่นการทำอุปสรรคกีดขวางต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าออกมาภายนอกได้

3. ป้องกัน ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้เน้นย้ำให้เป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน แต่เนื่องจากเรื่องของการผลักดัน เป็นเรื่องที่ต้องมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของสัตว์ ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างป่า มีความฉลาดสามารถเรียนรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เสมอ  อีกทั้งการผลักดันหากจะพึ่งพากำลังเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียวนั้น คงไม่สามารถทำได้ทั่วถึงทันท่วงที เนื่องจากมีกำลังจำกัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางกรมอุทยานฯเอง  ก็กำหนดให้ทุกป่าอนุรักษ์ จัดตั้งชุดช่วยเหลือในการผลักดันสัตว์ป่ากลับสู่ป่า เพื่อให้สามารถออกปฏิบัติการได้ทันทีเมื่อได้รับแจ้ง อย่างเช่น อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็ได้ตั้งชุดนี้เอาไว้ 4 ชุด เพื่อออกปฏิบัติการร่วมกับจิตอาสาเครือข่ายต่างๆ ของแต่ละชุมชนที่ประสบปัญหา ซึ่งเริ่มมีความตื่นตัวในเรื่องนี้กันแล้ว

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวอีกว่า ตอนนี้ต้องยอมรับว่า การเพิ่มจำนวนประชากรของสัตว์ป่าหลายชนิด ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้สัตว์ป่าออกมาหากินนอกเขตป่า โดยเฉพาะช้างป่า ที่ตอนนี้มีอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างน้อย 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี  ทำให้ห่วงโซ่อาหารเกิดการขาดความสมดุล สัตว์ผู้ล่าสูงสุดอย่างเสือโคร่งที่หาได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดของสภาพป่าและปัจจัยอีกหลายอย่าง จึงทำให้ประชากรช้างและสัตว์เหยื่ออื่นๆ เพิ่มมากขึ้น  ซึ่งหากจะรอให้เสือโคร่งหรือสัตว์นักล่าให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อมาควบคุมจำนวนประชากรก็คงไม่ได้  ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งมาช่วยกันหาทางจัดการปัญหานี้ร่วมกันอย่างเร่งด่วน

คลิปอีจันแนะนำ
หนุ่มเวสป้า ตบบ้องหูเด็กปั๊ม