กรมวิทย์ฯ การแพทย์ ตั้งเป้า! ตรวจโควิด-19 เชิงรุก ให้ได้ 1 แสนรายในเดือน มิ.ย.

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังเชิงรุก เร่งตรวจผู้เข้าข่ายติดโควิด-19 ให้ได้ 100,000 ราย ภายในเดือนมิถุนายนนี้

28 พฤษภาคม 2563 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการทางห้องปฏิบัติการอย่างเข้มข้น โดยแบ่งกลุ่มในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเป็น 3 กลุ่ม คือ

ภาพจากอีจัน
1.กลุ่มผู้ที่เข้าข่ายสอบสวนโรค 2.ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ 3.การค้นหาเชิงรุก ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายในการเฝ้าระวังเชิงรุกโดยให้มีการตรวจผู้ต้องสงสัยอย่างเต็มที่และครอบคลุมทั่วประเทศ เบื้องต้นต้องตรวจอย่างน้อย 100,000 ตัวอย่าง ภายในเดือนมิถุนายน 2563 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วนในหลายจังหวัด เช่น นครราชสีมา สุราษฏร์ธานี ปัตตานี เป็นต้น คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะทำพร้อมกัน และมีห้องปฏิบัติการครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งฐานข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่การจับสัญญาณการระบาดของโรคได้
ภาพจากอีจัน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเฝ้าระวังเชิงรุกจะประเมินอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือประชาชนกลุ่มเสี่ยง คือผู้ที่ทำงานต้องสัมผัสกับบุคคลจำนวนมากหรือทำงานในที่สาธารณะมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยเยอะ เช่น บุคลากรสาธารณสุข คนที่ขับรถสาธารณะ เป็นต้น อย่างที่ 2 คือสถานที่ที่มีการรวมคนกันอยู่อย่างหนาแน่นและทำเรื่องเว้นระยะห่างหรือ Social Distancing ได้ยาก เช่น แรงงานที่อยู่กันอย่างแออัดในบางกลุ่ม อย่างเช่นที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายและดำเนินการไปแล้วที่จังหวัดสมุทรสาคร หรือบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ต้องหาซึ่งได้ร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ กลไกสำคัญในการเฝ้าระวังเชิงรุกคือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทางส่วนกลางจะให้นโยบายว่าจะตรวจกลุ่มไหน สถานที่ไหน และทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะพิจารณาจากข้อมูลของจังหวัดว่าพื้นที่ไหนและกลุ่มไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นข้อดีทำให้พื้นที่สามารถปรับนโยบาย นำไปสู่ภาคปฏิบัติของตนเองและกำหนดออกมาว่าจะตรวจกี่คน
ภาพจากอีจัน
“สำหรับกรณีผลตรวจไม่ตรงกันสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นตัวเลข เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ การแปลผลต้องร่วมกับอาการผู้ป่วย ร่วมกับข้อมูลทางระบาดวิทยา ที่ผ่านมาแลปที่เป็นแลปอ้างอิง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางครั้งผลการทดสอบก็รายงานไม่ตรงกันพอไม่ตรงกันก็จะมีการตรวจซ้ำมีการตรวจสอบจนผลออกมาได้ตรงกัน ผู้ที่เอาไปใช้ก็สามารถเอาไปใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการวินิจฉัยโรค ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางระบาดวิทยา เพื่อไปสอบสวนสวนโรค ควบคุมโรค ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยตรวจไปแล้วกว่า 400,000 ตัวอย่าง ทำให้ประเทศไทยเราสามารถควบคุมโรคและควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี” นายแพทย์โอภาส กล่าว