สธ. เผย ไข้หวัดใหญ่ กับ โควิด อาการคล้ายกัน

กระทรวงสาธารณสุข เผย ไข้หวัดใหญ่ กับ โควิด มีอาการคล้ายกัน แนะ ปชช. ดูแลสุขภาพ

26 ตุลาคม 2563 นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และแพทย์หญิงเปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก ร่วมกันแถลงข่าวการดูแลรักษาสุขภาพช่วงฤดูหนาวให้ห่างไกลโรค โควิด 19

นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว หลายพื้นที่เริ่มมีอุณหภูมิลดลง อากาศเย็น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจระบาดได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อ โควิด 19 รายใหม่ ซึ่งทั้ง ไข้หวัดใหญ่ และ โควิด 19 มีอาการคล้ายคลึงกัน



ดังนั้นหากอยู่แต่ในบ้าน มีพฤติกรรมป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ โอกาสที่จะเป็น โควิด 19 จะน้อยมาก

แต่หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานที่กักกัน หรือสถานที่เคยติดโรคมาก่อน ใกล้ชิดกับคนต่างประเทศในภาวะกักกัน หากป่วยควรไปตรวจหาเชื้อ โควิด 19

นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี สามารถป้องกันได้ทั้งโรค ไข้หวัดใหญ่ และ โควิด 19 ซึ่งแต่ละปีโรค ไข้หวัดใหญ่ จะแพร่ระบาดสูง 2 ช่วง คือ ช่วงต้นปี จากนั้นลดลงช่วงฤดูร้อน และกลับมาระบาดอีกครั้งช่วงต้นฤดูหนาว

แต่จากมาตรการป้องกัน โควิด 19 ทำให้โรค ไข้หวัดใหญ่ ลดลงอย่างมาก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนถึงปัจจุบัน และยังลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อที่ติดจากมือด้วย เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

ภาพจากอีจัน
ขณะที่ แพทย์หญิงเปี่ยมลาภ กล่าวว่า ข้อแตกต่างระหว่างโรค ไข้หวัดใหญ่ และ โควิด 19 คือ ไข้หวัดใหญ่ ใช้ระยะเวลาการฟักตัวของโรค 1-4 วัน จึงจะเริ่มมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการ 1 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน อาการเด่น คือ ระยะแรกจะมีไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล และไอ สามารถหายได้เองใน 7 วัน อาจเกิดปอดอักเสบได้ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อที่ติดและภูมิคุ้มกันของร่างกาย การรักษามียาต้านไวรัส และมีวัคซีนป้องกัน
ภาพจากอีจัน
ส่วน โควิด 19 หลังรับเชื้อระยะเวลาเกิดโรคโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 วัน ส่วนใหญ่ไม่เกิน 14 วัน เริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นานถึง 14 วัน ส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์มักไม่แสดงอาการ แตกต่างจาก ไข้หวัดใหญ่ คือ อาการไข้ น้ำมูก และไอไม่เด่นเท่า ไข้หวัดใหญ่ โดยมีไข้ต่ำๆ ประมาณ 37.5 หรือ 37.8 องศาเซลเซียส อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวและไอร่วม แต่ที่เด่นชัดคือ สูญเสียการรับรสและกลิ่น สามารถหายเองได้ใน 10-14 วัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือมีโรคอื่นร่วมด้วย มีความเสี่ยงที่จะเกิดปอดอักเสบรุนแรงได้ ส่วนอาการจมูกไม่ได้กลิ่นจากภูมิแพ้ที่เกิดจากอากาศเย็นและฝุ่น PM 2.5 จะมีอาการเด่น คือ คัดจมูกและมีน้ำมูก หากสงสัยให้ไปพบแพทย์ ไข้หวัดใหญ่ โควิด 19 ติดต่อได้เหมือนกัน ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสถูกน้ำมูก เสมหะของผู้ป่วย มือที่สัมผัสเชื้อ การป้องกันตนเองจากทั้ง 2 โรค ทำได้เหมือนกัน คือ การใส่หน้ากาก ทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วยจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ล้างมือบ่อยๆ กินของร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เน้นการอยู่พื้นที่โล่งและมีแดดก็จะช่วยป้องกันได้