เปิดประวัติ “วัดทองธรรมชาติ วรวิหาร” ที่ตั้งพระวิหารโบราณกว่า 250 ปี

เปิดประวัติ “วัดทองธรรมชาติ วรวิหาร” ที่ตั้ง “วิหารพระเจ้าสิบทัศน์” โบราณสถานสำคัญสมัยอยุธยา เก่าแก่กว่า 250 ปี

หากพูดถึงวัดเก่าแก่ หรือโบราณสถานในไทย “วัดทองธรรมชาติ วรวิหาร” เป็นอีกวัดที่หลายคนรู้จัก โดยเฉพาะชาวคลองสาน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้ง “วิหารพระเจ้าสิบทัศน์” โบราณสถานสำคัญสมัยอยุธยา เก่าแก่กว่า 250 ปีเลยค่ะ 

ประวัติ วัดทองธรรมชาติ วรวิหาร 

วัดทองธรรมชาติ วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัด มหานิกาย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องฝั่งลำน้ำกับวัดปทุมคงคา หรือวัดสำเพ็ง บริเวณถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร   

เดิมเป็นวัดราษฎร์และเป็นวัดโบราณ ซึ่งไม่ปรากฏว่าสร้างมาแต่สมัยใด และใครเป็นผู้สร้าง เรียกกันว่า “วัดทองบน” เพราะมีวัดทองตั้งอยู่ใกล้กัน 2 วัด วัดนี้อยู่เหนือน้ำจึงเรียกว่า วัดทองบน ส่วนวัดที่อยู่ท้ายน้ำ เรียกว่า วัดทองล่าง ซึ่งปัจจุบัน คือวัดทองนพคุณ 

สันนิษฐานกันว่า “วัดทองธรรมชาติ” อาจสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะมีประวัติว่าในครั้งรัชกาลที่ 1 วัดนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก มีอุโบสถและวิหาร สร้างด้วยไม้ทาสีขาว ฐานก่ออิฐฉาบปูน และกุฏิไม้ขนาด 3 ห้องอีก 1 หลัง ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา 

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์เจ้าหญิงกุ หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งคนทั้งหลายขานพระนามว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์” พระขนิษฐาในพระบาทสมเด็จ   พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมด้วยกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระภัสดา ทรงมีพระศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างอุโบสถ วิหาร และเสนาสนะวัดทองบนขึ้นใหม่ทั้งวัด ได้แก่ วิหาร, อุโบสถ, พระประธานในพระอุโบสถ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระนามว่า “พระพุทธชินชาติมาศธรรมคุณ”, พระวิหาร สมัยอยุธยา อายุมากกว่า 250 ปี และพระพุทธรูปประจำพระวิหาร ที่เรียกกันว่า หลวงพ่อสิบทัศน์ เพราะมี 10 องค์ และมีพระลักษณะเหมือนกันทุกองค์ อายุมากกว่า 250 ปี 

และหลักฐานที่อาจจะบ่งชี้ว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาจริงๆ อยู่ที่พระวิหาร ด้านหลังพระอุโบสถ ซึ่งเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ที่ภายในอาคารมีสิ่งที่เก่าแก่กว่าหลายร้อยปีตั้งอยู่พระประธาน เป็นพระพุทธรูป 10 องค์ประดิษฐานลดหลั่นบนฐานเดียวกัน เรียกรวมกันว่า “หลวงพ่อสิบทัศน์” 

พระพุทธรูปทั้ง 10 องค์ มีพุทธลักษณะที่คล้ายกัน คือ โครงพระพักตร์(หน้า) เหลี่ยม แต่ค่อนข้างรีเหมือนรูปไข่ เป็นการผสมกันระหว่างพระพุทธรูปเขมรหรืออู่ทองยุคแรก(เหลี่ยม) และพระพุทธรูปสุโขทัย(รี) พระโอษฐ์(ปาก)หนา ริมฝีพระโอษฐ์หยักน้อย ๆ และพระหนุ(คาง) เป็นก้อนสี่เหลี่ยมพุทธลักษณะดังกล่าวเป็นของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 
 
 

ในอดีต วัดทองธรรมชาติ วรวิหาร เป็นที่ทรงโปรดของพระมหากษัตริย์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จมากราบไว้ขอพรอยู่เป็นประจำ แต่ปัจจุบันน่าเสียดายมากๆ ที่วิหารพระเจ้าสิบทัศน์ ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของวัดทองธรรมชาติ ชำรุดอย่างหนัก ไม่ได้บูรณะมากว่า 100 ปี สภาพพระวิหารหลังคารั่ว โครงสร้างหลังคา จิตรกรรมฝาผนัง รวมถึงพระเจ้าสิบทัศน์ แตกร้าว ชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถเปิดใช้ทำกิจ และศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณรได้ ซึ่งขณะนี้ทางวัดทองธรรมชาติ กำลังเร่งดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารค่ะ แต่ยังขาดทุนทรัพย์อีกจำนวนมากในการบูรณะ