ปภ. สรุปสถิติอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย เข้าสู่วันที่ 3 (13 เม.ย. 68) ยอดดับพุ่งแตะ 100 ราย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ (13 เม.ย. 68) พบเกิดอุบัติเหตุรวม 756 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 752 คน และผู้เสียชีวิต 100 ราย – กรุงเทพฯ ยอดเสียชีวิตมากที่สุด

สงกรานต์นี้ เดินทางกลับบ้านอย่างระมัดระวังด้วยนะครับ! เข้าสู่วันที่ 3 จากการเฝ้าระวัง 7 วันอันตราย ประจำปี 2568 เกิดอุบัติเหตุรวม 756 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 752 คน และผู้เสียชีวิต 100 ราย แล้ว

วันนี้ (14 เม.ย. 68) เวลา 10.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 แถลงข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 เน้นย้ำจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง ใช้ด่านชุมชน ด่านครอบครัว และหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ในการตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก่อนออกจากชุมชนและพื้นที่จัดงานสงกรานต์ ตลอดจนเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย สืบสวนขยายผล และดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี

นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 13 เมษายน 2568 เปิดเผยว่า จากสถิติข้อมูลอุบัติเหตุในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่ายานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ และพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุดคือการไม่สวมหมวกนิรภัย รองลงมาคือการดื่มแล้วขับ ศปถ. ขอให้ทุกภาคส่วนเพิ่มความเข้มข้นในการกวดขัดพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ โดยใช้กลไกของพื้นที่ในการดำเนินการอย่างการตั้งด่านชุมชนและด่านครอบครัวในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย และมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ก่อนขับขี่ยานพาหนะออกนอกชุมชน โดยหากพบผู้กระทำผิดและไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือน ขอให้ประสานมายังสถานีตำรวจภูธรใกล้เคียงเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการเชิงรุกด้วยการเคาะประตูบ้านเพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง การออกตรวจพื้นที่ที่จัดให้มีการเล่นน้ำสงกรานต์และพื้นที่ที่มีการจัดงานประเพณี ไม่ให้มีการจำหน่ายหรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงาน ก่อนเดินทางออกจากงานจะต้องสวมใส่อุปกรณ์นิรภัยให้เรียบร้อยและจะต้องไม่มีอาการมึนเมาสุราโดยเด็ดขาด

พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานการประชุมอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 กล่าวว่า เนื่องจากการสอบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พบว่านอกเหนือไปจากดื่มแล้วขับแล้ว ส่วนหนึ่งอุบัติเหตุทางถนนยังเกิดจากการง่วงหลับในที่มาจากการทานยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ง่วงซึม จึงขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ข้อมูลการใช้ยาว่ามียาชนิดใดบ้างที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมและมีผลต่อการขับขี่ เช่น กลุ่มยาแก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก กลุ่มยาแก้ปวดอย่างแรง ยาคลายกล้ามเนื้อ ยกแก้ไอ ยากันชัก ยารักษาอาการปวดเส้นประสาท ยาต้านอาการท้องเสีย และหากประชาชนทานยาเหล่านี้ ไม่ควรขับรถโดยเด็ดขาด โดยขอให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลนี้ผ่านทุกช่องทางของจังหวัด ทั้งเสียงตามสาย ป้ายรณรงค์ และสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจและจุดบริการประชาชน ตรวจเช็กการรับประทานยาของผู้ขับขี่ รวมถึงขอให้บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager: TSM) ตรวจสอบการรับประทานยาเหล่านี้ของผู้ขับขี่รถโดยสาธารณะ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 13 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2568 เกิดอุบัติเหตุ 296 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 299 คน ผู้เสียชีวิต 39 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.26 ดื่มแล้วขับ 29.05 และตัดหน้ากระชั้นชิด 17.91 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.85 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 81.42 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.84 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.09 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 14.19 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 20.61 เวลา 15.01- 18.00 น. ร้อยละ 16.89 และเวลา 12.01 – 15.00 น. ร้อยละ 16.55 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 21.89 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,754 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,017 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (19 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี สระแก้ว และเชียงราย (จังหวัดละ 3 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (11 เมษายน – 13 เมษายน 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 756 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 752 คน ผู้เสียชีวิต รวม 100 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 30 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (28 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (31 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (10 ราย)

ขอให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัย และที่สำคัญ “ดื่มไม่ขับ” นะครับ “อีจัน” เป็นห่วง