เปิดบันทึกจากหิน ไดโนเสาร์สูญพันธ์ เพราะดาวเคราะห์พุ่งชนโลก!

เปิดบันทึกจากยุคหิน ไดโนเสาร์สูญพันธุ์หลังดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งพุ่งชนโลก

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า

คณะนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยหลักฐานชิ้นสำคัญที่พิสูจน์สมมติฐานที่ว่าไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปหลังมีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งพุ่งชนโลก

การศึกษาฉบับนี้ซึ่งได้รับการเผยแพร่ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อวันที่ (9 ก.ย.) อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรก หลังจากหินก้อนยักษ์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหลายร้อยฟุต พุ่งปะทะผิวโลกจนเกิดเป็นหลุมอุกกาบาต

สมมติฐานดังกล่าวระบุว่า เมื่ออุกกาบาตลูกนี้ชนเข้าที่ผิวโลก ส่งผลให้เกิดไฟป่า คลื่นสึนามิ และทำให้กำมะถันปริมาณมหาศาลฟุ้งกระจาย ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจนแสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องผ่านมายังพื้นโลกได้ โลกจึงเย็นลงจนทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้พุ่งชนด้วยพลังงานเทียบเท่าระเบิดปรมาณูขนาดเท่าที่ถูกใช้ในสงครามโลกครั้งที่สองจำนวนหนึ่งหมื่นล้านลูก แรงระเบิดแผดเผาพืชและต้นไม้จนมอดไหม้กินวงกว้างหลายพันไมล์ ทั้งยังก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดมหึมา

ทีมวิจัยนานาชาติ ซึ่งนำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เมืองออสติน กู้เศษหินขึ้นมาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนอกชายฝั่งคาบสมุทรยูคาตันในประเทศเม็กซิโก โดยพบเศษถ่าน กองหินที่ถูกพัดมาจากการที่คลื่นสึนามิไหลย้อนกลับ และแร่กำมะถันที่หายไปอย่างชัดเจน

ภาพจากสำนักข่าวซินหัว

คณะนักวิจัยเรียกลักษณะดังกล่าวว่า “บันทึกจากหิน” ซึ่งให้รายละเอียดการสังเกตที่ละเอียดที่สุดกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังภัยพิบัติที่กวาดล้างสิ่งมีชีวิตยักษ์ไป


นักวิจัยอธิบายว่าแร่ธาตุส่วนใหญ่ที่ทับถมในหลุมอุกกาบาตจนเต็มภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ถูกผลิตขึ้น ณ จุดที่พุ่งชนนั้นเอง หรือถูกพัดให้มาทับถมในหลุมโดยน้ำทะเล ซึ่งทำให้เกิดการทับถมกันลึกลงไปกว่า 130 เมตร ภายใน 1 วัน

พวกเขาพบถ่านไม้ภายในหลุม พร้อมดัชนีชี้วัดทางชีวภาพด้านเคมีที่เกี่ยวข้องกับเห็ดราในดินที่อยู่ภายในหรือเหนือชั้นทราย ซึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยของการถูกทับถมโดยกระแสน้ำที่พัดพา

ส่วนพื้นที่โดยรอบปล่องนั้นเต็มไปด้วยหินที่อุดมด้วยกำมะถัน แต่กลับไม่มีกำมะถันอยู่ตรงกลาง ซึ่งสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งมาชนทำให้แร่ธาตุต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของกำมะถันระเหยเป็นไอ แล้วกระจายสู่ชั้นบรรยากาศ

ภาพจากสำนักข่าวซินหัว

คณะนักวิจัยคาดคะเนว่ามีกำมะถันอย่างน้อย 3.25 แสนล้านตัน กระจายสู่อากาศจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยนี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สภาพอากาศของโลกเย็นลงเฉลี่ย 2.2 องศาฟาเรนไฮต์ ยาวนานถึง 5 ปี

ชอน กูลิก (Sean Gulick) ศาสตราจารย์ประจำสถาบันธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซึ่งเป็นผู้นำวิจัยในครั้งนี้ อธิบายกระบวนการดังกล่าวว่าเป็น “ไฟนรกระยะสั้นที่กระทบในระดับภูมิภาค จากนั้นตามมาด้วยการเย็นตัวของโลกในระยะยาว” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ถึงแก่กาลอวสาน

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.xinhuathai.com