‘ทนายเจมส์’ เตือนลูกจ้าง โพสต์ด่านายจ้าง ไล่ออกได้ ไม่ต้องจ่ายชดเชย

เตือน ‘ลูกจ้าง’ อย่าสวมบทเกรียนคีย์บอร์ด โพสต์ด่า-ประจานนายจ้าง เสี่ยงถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับค่าชดเชย

การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการระบายความรู้สึก หรือความอัดอั้นตันใจ ที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พบเห็นได้มากยิ่งขึ้น แต่ในบางครั้งการโพสต์ข้อความพาดพิงผู้อื่น ก็ไปละเมิดสิทธิของคนอื่นจนผู้โพสต์ถูกฟ้องเป็นคดีดูหมิ่นด้วยการโฆษณาหรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเรียกค่าเสียหาย แล้วแต่ข้อความที่โพสต์ หรือลักษณะของการกระทำความผิด

วันนี้นำตัวอย่างของการโพสต์ระบายความอัดอันตันใจของลูกจ้างรายหนึ่ง จนนายจ้างออกหนังสือเลิกจ้าง เพราะเหตุที่ลูกจ้างโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก จนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

ต่อมาลูกจ้างได้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องนายจ้าง โดยอ้างว่า นายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จ่ายค่าชดเชย และ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งศาลฎีกาได้โปรดวินิจฉัยและวางบรรทัดฐานไว้ ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8206/2560

ลูกจ้างโพสต์บนเฟซบุ๊กว่า “เมื่อไหร่จะได้ในสิ่งที่ควรได้ว๊ะ…ต้องกินต้องใช้ ไม่ได้แดกดินแดกลมนะ” และ “ใครที่เกลียดเจ้านายเป็นบ้าเป็นหลัง โดนเจ้านายกลั่นแกล้ง หยุดซะเถอะความเกลียด ความโกรธ ปล่อยให้เขาเป็นอย่างนั้นไปคนเดียว เพราะถ้ามีเจ้านายเฮงซวยจริงๆ ก็ถือว่าเจ้านายของคุณมีทุกข์เยอะที่ชีวิตเขาต้องมาเจอลูกน้องเกลียดและเขาก็จะไม่มีความสุขในสิ่งที่เขาเป็น ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าหมxย…ลูกค้าเกลียดวันที่ลูกค้าเต็ม…ตลอด 3 ปีมานี้เขาบอกว่าขาดทุนตลอด อยู่ได้ไงตั้ง 3 ปี…งง…ให้กำลังใจกันได้ดีมากขาดทุนทุกเดือน”

เฟซบุ๊กเป็นสื่อออนไลน์สาธารณะที่ผู้ใช้งานใช้ในการติดต่อกับบุคคลอื่น และบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อความที่มีผู้เขียนลงบนเฟซบุ๊กได้ และมีบุคคลภายนอกเข้ามาเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความที่โจทก์เขียนไว้บนเฟซบุ๊ก แม้ข้อความที่โจทก์เขียนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการระบายความคับแค้นข้องใจของโจทก์

แต่ก็ทำให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยเป็นนายจ้างที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เอาเปรียบลูกจ้าง และจำเลยกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน ทั้งโจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลานานย่อมทราบดีว่าการเขียนข้อความดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารของจำเลย

ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้า การกระทำของโจทก์จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์

ลักษณะการกระทำของลูกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ กฎหมายได้บัญญัติไว้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ได้บัญญัติยกเว้นให้ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน โดยหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5) ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(6) ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

ปัจจุบันบริษัทหลายแห่งมักจะขอชื่อบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ไอจี ติ๊กต๊อก ไลน์ ทวิตเตอร์ ของผู้ที่มาสมัครงาน  เพื่อแอบดูการโพสต์ข้อความต่างๆ ของผู้ที่มาสมัครงาน ซึ่งการโพสต์ข้อความสามารถบ่งบอกตัวตนที่แท้จริง หรือทัศนคติของผู้ที่มาสมัครงานได้ ถ้าการโพสต์ข้อความของผู้ที่มาสมัครงานมีลักษณะรุนแรง หรือแสดงทัศนะคติเป็นลบ บริษัทอาจจะไม่รับเข้าทำงานก็ได้

สุดท้ายนี้ การโพสต์ข้อความใดๆ ก็ตาม หากไปพาดพิงนายจ้างหรือบุคคลอื่น ท่านอาจจะถูกฟ้องในทางแพ่งและทางอาญาก็เป็นไปได้ครับ ดังนั้น การจะโพสต์ข้อความใดๆ ก็ตาม ให้นึกถึงผลที่จะติดตามมาในอนาคตด้วย ก็จะทำให้ท่านไม่ต้องเดือดร้อน เสียหาย เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียค่าทนายในอนาคตครับ