ดีเอสไอ รับคดี พี มายเนอร์ เป็นคดีพิเศษ

ดีเอสไอ รับคดีหลอกลงทุน พี มายเนอร์ เป็นคดีพิเศษ ความเสียหาย 1,000 ล้าน ออกหมายเเดง เร่งตามตัว เป้ P Miner มารับโทษ

วันนี้ (28 พ.ย.65) ที่ห้องแถลงข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษและในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกันแถลงรายละเอียดกรณีรับสำนวนคดีที่ประชาชนจำนวนเกือบพันรายถูกหลอกลวงให้ลงทุนกับห้างหุ้นส่วนจำกัด พี มายเนอร์ คริปโตเคอเรนซี่ กรุ๊ป (P Miner Cryptocurrency Group Ltd.,Part.) มีการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลและทำเหมืองขุดบิตคอยน์

โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับสำนวนจาก พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และ พ.ต.อ.รชตโชค ลีวาณิชคุณ ผกก.(สอบสวน) บก.สอท.1 เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) และรับเป็นคดีพิเศษที่ 290/2565 โดยพิจารณาจากมูลค่าความเสียหายและจำนวนผู้เสียหาย ซึ่งเข้าเกณฑ์คดีพิเศษของดีเอสไอ

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เผยว่า ผู้เสียหายได้มีการแจ้งความไว้กับ สอท.1 จำนวน 721 ราย ความเสียหายเกือบ 1,000 ล้านบาท โดยได้มีการสอบปากคำไปแล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็จะส่งต่อให้ดีเอสไอ อีกทั้งมีการออกหมายจับไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ นายกิติกร อินต๊ะ หรือ เป้ P Miner และ น.ส.ณัฐวดี พรหมปัญญา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดหลบหนีอยู่ที่ต่างประเทศ (ประเทศเพื่อนบ้าน) แต่ได้มีการดำเนินการออกหมายแดงไปแล้ว รวมถึงได้มีการอายัดบัญชีธนาคารออมทรัพย์ เบื้องต้นจำนวน 117 บัญชี ยอดรวม 112 ล้านบาท และได้อายัดคริปโตเคอเรนซี หรือบิตคอยน์ ประมาณ 40 บิตคอยน์ รวมเป็นจำนวนเงินเกือบ 22 ล้านบาท พร้อมได้ยึดรถหรูอีก จำนวน 6 คัน รวมการยึดมอเตอร์ไซค์และรถยนต์หรู รวมเป็นทรัพย์สินจำนวน 100 กว่าล้านบาท ซึ่งจากนี้จะเป็นการดำเนินการของดีเอสไอต่อไป

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เผยอีกว่า สำหรับ 3 ข้อหาที่แจ้งผู้กระทำผิดทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย ฐานความผิด พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 , ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และ ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

ด้าน ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เปิดเผยว่า ดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ หลังจากได้ร่วมบูรณาการเรื่องข้อมูลกับ สอท.1 มาตลอด โดย สอท.1 ได้ยึดทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงหลายรายการ โดยเฉพาะเครื่องขุดบิตคอยน์ ประมาณ 100 เครื่อง จากการสอบสวนของของ สอท.1 พบว่าไม่มีการใช้เครื่องเลย จึงเห็นได้ว่ามีพฤติกรรมชัดเจนในการชักชวนหลอกลวงให้ผู้เสียหายเกือบพันรายร่วมลงทุนเทรดเหรียญและลงทุน

ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนรถหรูบางคันจาก 6 คันที่ยึดมานั้น พบว่าบางคันเป็นรถที่เขาใช้ไว้กระทำผิด เช่น แลมโบกินี่ 1 คัน เฟอรารี่ 1 คัน เขาเอาไว้โชว์ให้ผู้เสียหายดูว่าถ้าลงทุนกับเขาจะได้ผลตอบแทนจำนวนมาก ดังนั้น รถทั้งสองคันนี้จึงเชื่อได้ว่าเป็นรถที่มาจากการกระทำผิด ส่วนทรัพย์สินอื่นๆที่มีมูลค่า ที่ สอท.1 ได้ตรวจสอบไว้ ก็จะนำมาแยกว่าส่วนไหนนำส่งให้ ปปง. ได้ เพื่อ ปปง. ดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายได้เร็วขึ้น 

ส่วนผู้เสียหายที่เหลือที่ได้ลงทะเบียนไว้ใน QR CODE พบว่าในบรรดาจำนวนผู้เสียหายที่ลงทะเบียนออนไลน์ไว้ 721 ราย ยังเหลืออีก 400 กว่าราย ซึ่งจะต้องส่งต่อให้ดีเอสไอสอบปากคำ

ทรัพย์สินที่พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการยึดไว้เป็นของกลาง อาทิ รถยนต์ยี่ห้อ เบนท์ลีย์ (Bentley) สีดำ รุ่น Bentayga 1 คัน รถยนต์ยี่ห้อแลมโบกินี่ (Lamborghini) สีเหลือง รุ่น Huracan LP610-4 COUP 1 คัน รถยนต์ยี่ห้อเฟอรารี่ (Ferrari) สีแดง รุ่น 488 SPIDER 1 คัน รถยนต์ยี่ห้อ PORSCHE รุ่น BOXSTER 718 สีเทา 1 คัน และของกลางอื่นๆอีกหลายรายการ ทั้งยังมีกล่องหมุนนาฬิกา  (Watch Winder) 1 ตู้ กระเป๋าหรู เช่น Guess Gucci โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และซีพียู จำนวนหลายเครื่อง

คลิปอีจันแนะนำ
คนเคยเลว EP.3 เปิดชีวิต เหม่ง ปากดำ