เลิกใช้ “ลวด-แม็กซ์” กับอาหารได้ไหม

กรมอนามัย เตือนพ่อค้า-แม่ค้า งดใช้ ลวด-ลูกแม็กซ์ ในบรรจุภัณฑ์อาหารเสี่ยงอันตรายต่อผู้บริโภค

ยุคไหน ๆ ก็เรื่องกินเรื่องใหญ่ ดังนั้นการเลือกกินอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ และอาหารแบบสตรีทฟู๊ดที่ขายกันข้างทางก็อร่อยถูกปากเสียด้วย โดยเฉพาะข้าวเหนียวหมูปิ้ง ไก่ย่างที่ใช้ลวดมัดปลายไม้ หรือขนมที่ใช้ใบตองห่อแต่ใช้ลูกแม๊กซ์เย็บ

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวที่สร้างความตกใจและเป็นอุทาหรณ์ให้กับพ่อแม่ที่ซื้อไก่ย่างซึ่งมีลวดมัดที่ปลายไม้ให้ลูก 8 ขวบกินแล้วลูกกลืนลวดลงคอไปด้วย แต่พาไปหาหมอเพื่อทำการรักษาได้ทัน

หมอเตือน เจอเด็กลวดติดคอ หลังกินไก่ย่างมีลวดปลายไม้

ล่าสุด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนพ่อค้า-แม่ค้า ขอให้งดใช้ “ลวด-ลูกแม็กซ์” ในบรรจุภัณฑ์อาหาร เนื่องจากเสี่ยงอันตรายต่อผู้บริโภค หลังเกิดกรณีเด็ก 8 ขวบ กินไก่ย่างแล้วกลืนลวดมัดปลายไม้ไก่ย่าง

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการโพสเตือนเด็ก 8 ขวบ กินไก่ย่างกลืนลวดมัดปลายไม้ไก่ย่าง กรมอนามัยขอแจ้งเตือนพ่อค้า แม่ค้า ผู้จำหน่ายอาหารห้ามนำลวดหรือลูกแม็กซ์ มาใช้ในการบรรจุอาหาร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเฉพาะลวดมัดปลายไม้ไก่ย่าง เพราะเมื่อโดนความร้อนเป็นเวลานาน อาจมีสารปนเปื้อนได้ และควรใช้วัสดุที่มองเห็นได้ชัดเจน หรือเปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถปิดล็อคได้ทันที และควรเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เหมาะสม หรือ Food Grade

ขณะที่ประชาชนก็ควรหลีกเลี่ยงการเลือกซื้ออาหารที่มีลวดหรือลูกแม็กซ์ ในบรรจุภัณฑ์อาหาร เพราะอาจเผลอเคี้ยวหรือกลืนเข้าไปได้

ทั้งนี้ กรณีที่เผลอกลืนลวดหรือลูกแม็กซ์ที่มีขนาดเล็กลงไปแล้ว และไม่ได้ติดอยู่ที่บริเวณคอหอย และทอนซิล ลวดหรือลูกแม็กซ์ลงไปสู่กระเพาะอาหาร ปะปนไปกับอาหารที่ย่อยไม่หมด และเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ก็จะปนอยู่ในอุจจาระ โอกาสที่จะเกิดอันตรายถือว่ามีน้อย

แต่หากเป็นลวดหรือลูกแม็กซ์ขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะส่วนแหลมที่ยื่นออกมา อาจมีโอกาสไปติดที่หูรูดส่วนบนของหลอดอาหาร หรือที่หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุ และเกิดอันตรายได้ ซึ่งหากมีอาการเจ็บเวลากลืนอาหาร กลืนอาหารลำบาก และเจ็บกลางอก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ด้านนายสุพจน์ รื่นเริงกลิ่น นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ อีจัน ว่า…

ลวดที่นำมาใช้ในการมัดปลายไม้ไก่ย่างเป็นลวดที่ใช้ในการก่อสร้างจึงทนความร้อนสูง สามารถทนความร้อนได้ถึง 200-300 องศาเซลเซียส ขณะที่ไก่ย่างใช้ความรู้ในการทำให้สุกเพียง 100-150 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม นายสุพจน์ บอกว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้พ่อค้าแม่ค้ามาใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ เช่น ใช้ตอกมัดปลายไม้ไก่ย่าง หรือใช้ก้านมะพร้าวทำไม้กลัดในการกลัดใบตองห่อขนม ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องระมัดระวังดูให้ดีก่อนรับประทาน

เอาเป็นว่ากินไก่ย่าง หรือขนมหีบห่อที่มีแม็กซ์เย็บปิดห่อมาก็ระวังกันด้วยนะคะ