โอมิครอนระบาดหนัก ราชกิจจาฯ ประกาศขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 17 ไปจนกว่าจะมีคำสั่งอื่น คุมโควิด โอมิครอน ที่ยังระบาดหนัก

เมื่อวานนี้ (23 มี.ค. 65) เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) มีเนื้อหา ว่า

ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่

ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2565 นั้น

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7, มาตรา 8, และมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้น ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ตามประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่า นายกรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากประกาศฉบับแรกที่กำหนดประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน มีใจความว่า

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 16 ออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 นั้น

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอนเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อันส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ประชาชนส่วนใหญ่เข้ารับการฉีดวัคซีน ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดแล้วก็ตาม แต่ในช่วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม? จะมีวันหยุดต่อเนื่องหลายช่วง? ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว รวมทั้งอาจจัดกิจกรรมรวมกลุ่มโดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อน ประกอบกับการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยง ยังอยู่ในระดับต่ำ หากเกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น จะมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขและชีวิตของประชาชน กรณีจึงจำเป็นต้องคงไว้ ซึ่งมาตรการในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขของชาติ และชีวิตของประชาชน

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2565 จึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีกคราวหนึ่ง สําหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน

จึงเห็นว่ามีความจำเป็นให้ขยายประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อปฏิบัติงานและการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมีความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ซึ่งจากคำสั่งที่ออกมาทั้ง 2 ฉบับนั้น ทำให้เห็นได้ชัดว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ประชาชนเองก็ควรจะต้องระมัดระวังตัวให้ดี รักษามาตรการต่างๆอย่างเคร่งครัดกันด้วยนะครับ

คลิปอีจันแนะนำ
คอลเซ็นเตอร์ช็อก! เมื่อเจอทะนงทวย