ป.ป.ช. เดินเครื่อง ไต่สวนคดีคลิปเสียงนายกฯ เอง คาดใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี 

ทนายรณณรงค์ กางข้อกฎหมายอธิบายชัด หลัง ป.ป.ช. เดินเครื่องไต่สวนคดีคลิปเสียงนายกฯ อิ๊งค์-ลุงฮุนเซน เอง คาดใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี

คืบหน้ากรณีคลิปเสียงหลุด ขณะนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โทรคุยกับ สมเด็จฯ ฮุนเซน 

ล่าสุดวันนี้ (18 ก.ค.68) ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ นักกฎหมายมหาชน โพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตว่า “ด่วน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะใหญ่) ไต่สวนคดีคลิปเสียงนายกฯ แพทองธาร เอง คาดใช้เวลาไม่เกินสามปี แต่อย่างไรก็ตามจะเร่งสรุปให้เพราะอยู่ในความสนใจของประชาชน #องค์กรเดียวที่ไม่รู้ร้อนหรือหนาว” 

ป.ป.ช. เดินเครื่องไต่สวนคดีคลิปเสียงนายก–ฮุนเซน กรอบกฎหมายเอาผิดผู้นำในระบอบประชาธิปไตย 

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าคดีคลิปเสียงสนทนาลับระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับสมเด็จฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา ขณะนี้ เข้าสู่ชั้น “ไต่สวน” โดย ป.ป.ช. แล้วอย่างเป็นทางการ 

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ดราม่าการเมือง แต่เกี่ยวพันถึง “หลักธรรมาภิบาล” และ “กฎหมายมหาชน” ที่ใช้ตรวจสอบผู้นำระดับประเทศโดยตรง 

แล้วถ้าในคลิปมีเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยง หรือผิดจริยธรรมร้ายแรงล่ะ? 

ขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ 

ป.ป.ช. ใช้กฎหมายอะไรในการตรวจสอบ? 

1. พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 

ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนผู้นำการเมือง หากพบว่า 

• ใช้อำนาจ เพื่อให้คุณหรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง 

• กระทำผิด จริยธรรมร้ายแรง เช่น เปิดเผยข้อมูลลับ แทรกแซงผลประโยชน์แห่งรัฐ 

2. รัฐธรรมนูญ มาตรา 234-235 

หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดจริยธรรมร้ายแรง → ส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองวินิจฉัย 

ผลที่ตามมาคือ 

• พ้นจากตำแหน่ง 

• เพิกถอนสิทธิทางการเมือง 10 ปี 

• หากพัวพันผลประโยชน์ทับซ้อน อาจโดน คดีอาญาแยกต่างหาก 

กรอบเวลา 2 ปี + ขยายได้อีก 1 ปี 

แต่ ประธาน ป.ป.ช. นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ระบุชัดว่า “คดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ เราจะเร่งทำให้เสร็จเร็วขึ้นในกรอบเวลาอย่างชัดเจน” 

และยังเป็นคดีที่ กรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเข้าร่วมไต่สวนด้วยตนเอง 

ซึ่งถือเป็นคดีพิเศษที่ต้องจับตา 

แล้วถ้าในคลิปมีการพูดเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ, แทรกแซงองค์กรอิสระ, หรือต่อรองกับประเทศอื่นเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มล่ะ? 

อันนั้น “ไม่ใช่แค่ผิดจริยธรรม” แต่อาจเข้าข่าย ทุจริตต่อหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 หรือ ผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ด้วยซ้ำ 

ประชาชนมีสิทธิรู้ว่า “ผู้บริหารประเทศ” ใช้อำนาจอย่างไร 

ไม่ใช่เพราะคลิปหลุด แต่เพราะอำนาจบริหารในระบอบประชาธิปไตยต้องตรวจสอบได้เสมอ” 

เป็นอีกเรื่องที่ควรจับตาดูต่อไปค่ะ หากมีความคืบหน้าจะอัปเดตให้ทราบ