
นับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2567 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้บุกยื่นหนังสือเรียกร้องยกเลิก MOU 44 และ JC 44 ถึงนายกฯอิ๊งค์ พร้อมขีดเส้นใต้ 15 วัน จะมาทวงคำตอบ และล่าสุดนายสนธิ-นายปานเทพ และมวลชนได้ออกมาทวงคำตอบตามสัญญาแล้ว

วันนี้ (24 ธ.ค.67) เวลา 09.00 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พร้อมคณะ เดินทางไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิก MOU44 และ JC44 ที่มองว่าขัดต่อพระบรมราชโองการฯ และฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อการเสียเอกราชธิปไตยสิทธิอธิปไตย และบูรณภาพแห่งทะเลอาณาเขตต่อเนื่อง และเขตไหล่ทวีป
ซึ่งระหว่างการเดินทางไปยื่นหนังสือทวงถามนั้น มีมวลชนคนเสื้อเหลืองรอต้อนรับปรบมือให้กำลังใจอย่างล้นหลาม ก่อนที่นายสนธิจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ เพื่อทวงถามความคืบหน้าข้อเรียกร้องที่การดำเนินการยกเลิก MOU44 และ JC44 โดยมีนายสมคิด เชื้อคง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือ

สำหรับข้อเรียกร้องที่นายสนธิได้ยื่นไปให้คณะรัฐมนตรี เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้คณะรัฐมนตรีมีการเจรจากับประเทศกัมพูชาเพื่อยกเลิก MOU44 และ JC44 และระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย และขอให้จัดเวทีสาธารณะให้แก่ประชาชนร่วมรับฟังข้อเท็จจริง โดยจะมาทวงถามคืบหน้าหลังจากครบ 15 วัน
ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว แต่กลับมีท่าทีนิ่งเฉยไม่เคยพูดถึงข้อเรียกร้องผ่านสื่อแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีข้อตอบรับใด ๆ ว่าจะจัดให้มีเวทีสาธารณะเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจปัญหาของประเทศ

นายสนธิ กล่าวว่า การแสดงออกของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทำให้เห็นแล้วว่าจงใจละเลยต่อหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตย บูรพาแห่งทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง และเขตไหล่ทวีป ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
“และทำการสนับสนุนการกระทำความผิดที่จะทำให้ประเทศไทยหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรไทยต้องส่งไปอยู่ในอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ และยังเห็นว่าคณะรัฐมนตรีมีพฤติการณ์บางประการ ดูเหมือนคบคิดกับผู้นำของประเทศกัมพูชาด้วยความประสงค์ที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ”
สำหรับ MOU44 เป็นบันทึกความเข้าใจที่กำหนดกรอบและกลไก ในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักเขตแดนทางทะเล ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน และเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม โดยต้องดำเนินการทั้งสองเรื่องในลักษณะที่ไม่แบ่งแยกออกจากกัน และมีข้อตกลงร่วมกันว่า MOU44 จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย
ซึ่งประเด็นล่าสุดที่ทำให้ MOU44 กลับมาเป็นที่พูดถึง เพราะพรรคพลังประชารัฐ เปิดประเด็นให้รัฐบาลยกเลิกสัญญา MOU44 เพราะเกรงว่าประเทศไทยจะเสียดินแดนเกาะกูด จ.ตราด ให้กับกัมพูชา ก่อนที่ นายกฯแพทองธาร จะแถลงยืนยันว่า เกาะกูดเป็นพื้นที่ของไทย และกล่าวว่า MOU ฉบับนี้ ไม่สามารถทำให้ไทยเสียดินแดนแม้แต่น้อย
ส่วน JC44 เป็นแถลงการณ์ร่วมที่ ไทย-กัมพูชา เซ็นสัญญาร่วมกันระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร กับ ฮุน เซน ซึ่ง MOU44 เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของแถลงการณ์ JC44