‘หมอเดชา’ ทวนความจำ ‘พิธา’ เคยร่วมรณรงค์ปลดล็อกกัญชา

‘หมอเดชา’ จำแม่น ‘พิธา’ เคยร่วมรณรงค์ปลดล็อกกัญชา พ้นยาเสพติด ลั่น หากย้อนกัญชาเป็นยาเสพติด จะเดินรณรงค์ซ้ำอีก

‘กัญชาเสรี’ เป็นนโยบายหาเสียงของ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ช่วงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เพื่อผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ด้วยไทยเป็นแหล่งผลิตกัญชาที่มีคุณภาพดีที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก และเพื่อนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ จำหน่ายเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตยารักษาโรค และเพื่อการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นมหาศาล และเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี

ดังนั้น นโยบายดังกล่าวจึงได้รับความสนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งขณะนั้นอย่างมาก พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคภูมิใจไทยได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล และนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงผลักดันนโยบายกัญชาของพรรคอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติดได้เมื่อปี 2565

งานนี้ผู้ได้รับประโยชน์ก็ใช้กัญชาได้สบายใจ ส่วนผู้เสียประโยชน์ ในหลายพื้นที่ก็​รวมตัวกันร้องเรียนกลิ่น-ควันจากการสูบกัญชาคละคลุ้งรบกวน ไม่เว้นกระทั่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกวิ่งในตอนเช้า ยังกล่าวในไลฟ์สดของตัวเองว่า ได้กลิ่นกัญชาทั่วถนนข้าวสาร 

พร้อมกัน ยังมีหลายเหตุการณ์ที่กัญชาเป็นเหตุสร้างปัญหาสังคม เช่น หนุ่มสูบกัญชาจนเพี้ยน ขู่ทำร้ายผู้อื่น, เด็กวัย 14 ปี ติดกัญชางอมแงม ขาดเสพจะรู้สึกหงุดหงิด จนคุณยายต้องร้องขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน รวมถึง มีการตรวจพบเยลลี่ผสมกัญชา หลังเด็ก 8 ขวบ แพ้อาเจียนหนัก เป็นต้น

ดังนั้น ‘พรรคก้าวไกล’ จึงมีนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา โดยกัญชายังคงมีสถานะเป็นยาเสพติด สอดคล้องกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษของสหประชาชาติ โดยมีมาตรการในการกำกับดูแลอย่างเหมาะสมตามกฎหมาย และพิจารณาเนื้อหาร่างกฎหมายกัญชา คือ

1.ต้องเอากัญชากลับมาเป็นยาเสพติดด้วยการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 หรือออกประกาศฉบับใหม่มาแทนที่ฉบับก่อนหน้า

2.กฎหมายต้องไม่ยกเลิกสถานะการเป็นยาเสพติดของกัญชา โดยต้องยกเลิก ม.3 ของร่าง พ.ร.บ. กัญชา และต้องไม่เอื้อให้เกิดการผูกขาดกัญชาให้อยู่ในมือของกลุ่มทุนใหญ่ แต่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์

ขณะที่ วานนี้ (26 พ.ค.66) อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หมอพื้นบ้านผู้บุกเบิกการทำน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรคช่วยเหลือประชาชน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Deycha Siripatra ถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาในการลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู ของ 8 พรรคการเมือง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ที่นำโดยพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 22 พ.ค.66 ว่า

ในฐานะหมอพื้นบ้านที่ใช้กัญชา นักข่าวถามว่าถ้ารัฐบาลชุดใหม่เอากัญชาเข้าบัญชียาเสพติดอีก จะทำอย่างไรผมเล่าให้เขาฟังว่าเมื่อปี 62 กัญชายังอยู่ในบัญชียาเสพติด ผมเดินรณรงค์ 20 วัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ซึ่งมีผู้มาร่วมเดินด้วยมากมาย

จำได้ว่าคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็มาร่วมเดินรณรงค์กับผม และได้ปราศรัยกับผู้ร่วมเดินว่าเป็นหนี้บุญคุณกัญชาที่ทำให้หายจากโรคลมชัก จึงเห็นด้วยในการเดินรณรงค์ครั้งนี้

แต่ถ้าปีนี้คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเอากัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติดอีก ผมก็จะเดินรณรงค์เพื่อเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติดอีกครั้ง และผมเชื่อว่าครั้งนี้คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คงไม่มาร่วมเดินกับผมอีกอย่างแน่นอน แต่ประชาชนคนไทยที่จะมาเดินกับผม คงมีมากกว่าปี 62 หลายเท่า

ซึ่งจากโพสต์ดังกล่าว ทำให้หลายคนออกมาแสดงความคิดเห็น รวมถึงขุดรูปและโพสต์ ของนายพิธา เพื่อย้อนถามถึงประเด็นดังกล่าว เช่น เสื้อยังอยู่นะคะผ้าพันคอหมวกครบ, ใครกันนะหน้าคุ้นๆ, กัญชาเป็นยารักษาโรคก็ดี กัญชาเป็นยาเสพติดก็ร้าย เอากัญชามาส่งเสริมเรื่องทางยา เอากัญชามาควบคุมห้ามเสพติด

ขณะเดียวกัน หากย้อนกลับไปปี 2562 นายพิธา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับนโยบายกัญชา พรรคอนาคตใหม่ ไว้ว่า

อนาคตใหม่จะผลักดันให้เกิด “กัญชาเพื่อการแพทย์และอาชีพ” 

1.การกระจายโอกาสในการเข้าถึงกัญชาให้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบทางเลือกมากกว่าการรักษาแผนปัจจุบัน ที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย ราคาเหมาะสม เพราะกัญชามีสรรพคุณช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรค อาทิ ลมชัก พาร์คินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ เป็นต้น

2.กระจายโอกาส “การผลิต ปลูก แปรรูป” ให้กับเกษตรกร ให้ได้รับเมล็ดพันธ์และวิธีปลูกที่เหมาะสมกับพื้นที่ สนับสนุนให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการแปรรูปและเพิ่มมูลค่า ไม่ส่งออกแค่เพียงปฐมภูมิอีกต่อไป

ในอนาคตยังมีโอกาสจะผลักดันให้มีการท่องเที่ยวเกี่ยวกับกัญชา รัฐอาจจะมีการจัด “พื้นที่พิเศษ” หรือการทำ Sandbox ทดลองใช้กฎเกณฑ์ใหม่ ถ้าจะเกิดขึ้นต้องมีการกำหนดกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเข้าถึง ศึกษาคุณประโยชน์และโทษต่อบริบทประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ และส่งเสริมการศึกษา วิจัย ประโยชน์ สรรพคุณ จัดระเบียบพันธ์ การปลูกกัญชาด้วย

เพราะเราอยากเห็นประเทศไทย เป็น 1 ใน 5 ประเทศศูนย์กลางเกี่ยวกับกัญชาชั้นนำของโลก ทั้งในด้านการแพทย์ (Medical hub) และการท่องเที่ยว (Tourism hub)

ต้องติดตามกันต่อไปว่า นายพิธา และพรรคก้าวไกล จะชี้แจงเรื่องนี้อย่างไร

คลิปอีจันแนะนำ
พิธา ประกาศ MOU 23 ข้อ ร่วม 7 พรรค ตั้งรัฐบาล