กรมราชทัณฑ์ แจงกรณีทักษิณ ออกรักษาตัวโรงพยาบาลภายนอกครบ 30 วัน

กรมราชทัณฑ์ แจงเหตุผล ทักษิณ ต้องรักษาตัวเกิน 30 วัน นอกเรือนจำ เนื่องจาก แพทย์ลงความเห็น การรักษายังไม่สิ้นสุด

กรมราชทัณฑ์ชี้แจงประเด็นที่สื่อให้ความสนใจ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ในความควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งรับตัวไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และต่อมามีอาการป่วยฉุกเฉินต้องส่งตัวออกรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลตำรวจในคืนดังกล่าว โดยจะครบระยะเวลา 30 วัน ที่ส่งตัวออกไปรักษาพยาบาลภายนอกในวันที่ 21 กันยายน 2566

ในการนี้ กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 กำหนดไว้ว่า

กรณีผู้ต้องขังพักรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 30 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

โดยกรมราชทัณฑ์ได้รับหนังสือจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รายงานความเห็นแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจ ระบุเหตุผลความจำเป็นของ นายทักษิณ ที่จำเป็นต้องรักษาตัวเกิน 30 วัน

เนื่องจากการรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะได้เข้ารับการผ่าตัด และยังคงต้องรักษาตัวอยู่ต่อ ณ โรงพยาบาลตำรวจ

ทั้งนี้ในห้วงระยะเวลาปี งบประมาณ พ.ศ.2566 กรมราชทัณฑ์มีสถิติผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 30 วัน จากเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศกว่า 140 ราย และในเดือนนี้มีสถิติ จำนวน 14 ราย ที่เสนอมายังกรมราชทัณฑ์ (รวมกรณีนายทักษิณ) และกรมราชทัณฑ์ได้เห็นชอบตามความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษาเสนอมา โดยที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ดำเนินการตามความเห็นแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย และคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ ส่วนรายละเอียดของผู้ป่วยทุกราย ตามกฎหมายไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยให้ทราบได้