กกต. เปิดรับสมัคร ส.ส.แบบเขต – ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อถึง 7 เม.ย.66

กกต. เปิดรับสมัคร ส.ส.แบบเขต-ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อถึง 7 เม.ย.66 พร้อมคุณสมบัติของผู้ที่สมัครเป็น ส.ส.

วันนี้ (3 เม.ย.66) บรรยากาศของการเลือกตั้งอบอวลไปทั่วประเทศ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดให้วันนี้ -7 เม.ย.66 เป็นวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือ ส.ส.แบบแบ่งเขต ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศกำหนดไว้ทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.

ส่วนการรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์) และการรับแจ้งรายชื่อ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน ที่ห้องบางกอกอาคาร ไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง

ทั้งนี้ การรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะมีไปจนถึงวันที่ 7 เมษายน 2566 เป็นวันสุดท้ายเช่นกัน แต่ในวันสุดท้ายจะปิดรับสมัครในเวลา 16.00 น.

สำหรับการสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 10,000 บาท โดยส.ส.แบบแบ่งเขตมี 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวม ส.ส. 500 คน

คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.
สำหรับผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ระบุไว้ใน มาตรา 41 ว่า

1.มีสัญชาติไทยโดยการกำเนิด

2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง

3. เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน

4. ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

5.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

6.เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

7.เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา

8.เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

ลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส.
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

1. ติดยาเสพติดให้โทษ

2. เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

3. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ

4. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

5. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

6. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

7. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง

8. ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

9. เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

10. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

11. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

12. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

13. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

14. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง

15. เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

16. เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี

17. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

18. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

19. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

20. เคยพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส., ส.ว. หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย

21. เคยพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

คลิปอีจันแนะนำ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก้าวไกล ห่วงชาวบ้าน กลัว งง เกณฑ์การ เลือกตั้ง 66