อำลา 9 ปี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 29

ย้อน 9 ปี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ลั่นพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด

การก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่  20 พ.ค. 57

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ

หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตุลาคม 2556 

และวันที่ 22 พ.ค.57 เวลา 16.30 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ทำการโค่น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายกรัฐมนตรีรักษาการในขณะนั้น

และถือเป็นการก่อรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

วันที่ 24 ส.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย 

พล.อ.ประยุทธ์ กับการทำงานในรัฐบาลยุค คสช.  ได้มีนโยบายต่าง ๆ ออกมามากมาย

ตั้งแต่  ค่านิยม 12 ประการ, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, ตลอดจนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่เรียกคะแนนจากผู้มีรายได้น้อยได้อย่างล้นหลาม

กระทั่ง ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ เข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป โดยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถคงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้เป็นสมัยที่ 2  โดยการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ พร้อมเสียงสนับสนุนอีก 250 เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ คสช.

ในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 นี้ เขายังคงผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานที่โดดเด่นชัดเจน  คือ โครงสร้างด้านการคมนาคม ที่สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล จนสามารถเปิดใช้งานได้ถึง 8 สาย 

อีกทั้งนโยบายระหว่างประเทศ ที่สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุ จนนำมาสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศอีกหลายด้าน

แต่ถนนทุกสายก็ไม่ได้ราบเรียบไปตลอดเส้นทาง เพราะระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนั้น ก็เกิดการประท้วงในประเทศ โดยมีข้อเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  หลังจากสถานการณ์การสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำผสมสารเคมีในเดือนตุลาคม 2563    

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น เกิดการระบาดของโควิด-19 เพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้ จึงมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563  และขยายเวลามาเรื่อย ๆ โดยอ้างว่าใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19  แต่หลายคนก็มองว่าเขาใช้กฎหมายนี้เพื่อควบคุมการชุมนุมทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานกาณ์ในช่วงโควิดนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ออกมายกย่องให้ประเทศไทยเป็น1ในประเทศต้นแบบที่มีการบริหารจัดการและรับมือกับสถานกาณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคว้าอันดับ 1 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากที่สุดในโลก ภายหลังจากการเปิดประเทศ

ในวันที่ 24 ส.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี

แต่เส้นทางการเมืองของเขายังไม่ถึงจุดสิ้นสุด เมื่อต่อมาวันที่ 30 ก.ย.ปีเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เริ่มนับวาระนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ บทบาทของเขาในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงได้ไปต่อ !!  

ปลายปี 2565 พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งปี 2566 แต่หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง  วันที่ 11 ก.ค.66 พล.อ.ประยุทธ์ กลับประกาศวางมือทางการเมืองและลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ 

จนกระทั่ง 22 ส.ค.66 หลังรัฐสภามีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่30

การทำหน้าที่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทยจึงถือสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ   

โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ได้เข้าพบเพื่อรับมอบงานต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย  

กระทั่งวันนี้ (26 ส.ค.66) “พล.อ.ประยุทธ์” โพสต์เฟซบุ๊กลา 9 ปี กับหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 และขอบคุณคนไทยทุกคนที่ร่วมมือกัน ซึ่งการมาทำหน้าที่นายกฯ ทำให้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมี “ยุทธศาสตร์ชาติ” ระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางและกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ซึ่ง 9 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีความเจริญก้าวหน้าในหลายด้านทัดเทียมนานาอารยประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “พล.อ.ประยุทธ์” โพสต์เฟซบุ๊กลา 9 ปีหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ถือเป็นวาระที่มีความต่อเนื่องยาวนานที่สุด เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย