งานเข้า ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคำร้อง กรณี 7 กกต. กลั่นแกล้งพิธา

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีมติ รับคำร้อง กรณี มีผู้ร้องเรียน 7 กกต. ปม กลั่นแกล้งพิธา พร้อม นัดฟังคำพิพากษา 8 ส.ค. 66

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีมติรับคำร้อง ที่นายยงยุทธ เสาแก้วสถิต ทนายความ ยื่นฟ้องนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพวกรวม 7 คน ประกอบด้วยกกต. 5 คน พร้อมด้วยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. โดยกล่าวหาว่า มีความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ซึ่งนายยงยุทธ กล่าวหาจำเลยทั้ง 7 ว่า เจตนาร่วมกันออกประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ทั่วประเทศ ออกแบบบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ที่แตกต่างกันจากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา พิมพ์บัตรเกินกว่าจำเลยประชาชนมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 7 ล้านใบ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศไม่เข้าใจ หรือสับสนวุ่นวาย รวมทั้งออกระเบียบ ประกาศต่าง ๆ ในลักษณะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้พรรครัฐบาลเดิมชนะการเลือกตั้ง และได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หรือรัฐบาลสมัยที่ 2

นอกจากนี้จำเลยทั้ง 7 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนตามกฎหมาย แต่กลับไม่ได้ทำตามอำนาจหน้าที่ของตน ปล่อยล่วงเลยมาถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 จนมีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มายื่นคำร้อง กล่าวหาว่านายพิธา ถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และอาจทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต่อมามีผู้ยื่นข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันอีกหลายคน แต่จำเลยไม่ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยโดยเร็วตามกฎหมาย หรือไม่ส่งเรื่องให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกฎหมาย ทั้งที่นายพิธา เคยเป็น ส.ส.มาแล้ว 1 สมัยจนครบวาระ และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้ง 7 จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้บุคคลอื่นคือโจทก์ หรือนายพิธา ได้รับความเสียหาย

ขณะเดียวกันก่อนประกาศการเลือกตั้ง ส.ส. จำเลยทั้ง 7 มีพฤติการณ์เคลือบแคลงสงสัยหลายประการ เช่น ประกาศผลการเลือกตั้งได้ช้ากว่าที่ควร, ปฏิเสธไม่รับความช่วยเหลือจากหน่วยหรือองค์กรเอกชน, และไม่เลือกใช้การสื่อสารที่ทันยุคทันสมัย โดยผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ปรากฏว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 14 ล้านคน เลือกพรรคก้าวไกล จนพรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 คือ 151 คน แต่จำเลยทั้ง 7 เจตนาร่วมกันกลั่นแกล้งนายพิธา ด้วยการประชุม วินิจฉัย ลงมติ หรือมีความเห็นร่วมกันส่งเรื่องที่นายพิธา ถูกร้องเรียนว่าถือหุ้น itv ต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลการเมืองอย่างเร่งรีบ เพื่อให้วินิจฉัยว่านายพิธา ไม่มีคุณสมบัติหรือขาดคุณสมบัติที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพราะถือหุ้นสื่อ และขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยจำเลยทั้ง 7 มิได้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน ตามขั้นตอนของกฎหมาย อันเป็นการดำเนินการก่อนหรือในวันโหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 เพื่อลดความน่าเชื่อถือของนายพิธา และพรรคก้าวไกลต่อสมาชิกรัฐสภา ทั้งที่นายพิธา เป็น ส.ส.มาครบ 1 สมัยหรือ 4 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีผู้ใดร้องคัดค้านแต่อย่างใด จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตทำให้บุคคลอื่นคือโจทก์ และหรือนายพิธา ได้รับความเสียหาย

โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำสั่งให้รับคดีไว้เพื่อตรวจฟ้อง ให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 8 ส.ค. 2566 เวลา 09.30 น.

คลิปอีจันแนะนำ
พิธา หลังแพ้โหวต นายก “ยอมรับผล แต่ไม่ยอมแพ้”