หมอเลี้ยบ เผยประชุมซอฟต์พาวเวอร์ 3 ต.ค. นี้ อุ๊งอิ๊ง นั่งประธานบอร์ด

หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เผยความคืบหน้านโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เตรียมประชุมซูเปอร์บอร์ด 3 ต.ค. นี้ พร้อมตั้งบอร์ดบริหารมี “อุ๊งอิ๊ง” นั่งประธาน แย้มสิ่งที่จะเกิดใน 100 วันแรก

หลังจากการประชุม ครม.เศรษฐา 1 ครั้งแรกผ่านพ้นไป และได้มีมติให้แต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาเวอร์แห่งชาติ ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ในเรื่องของอาหาร ศิลปะวัฒนธรรม และกีฬา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย พร้อมผลักดันโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาเวอร์ เพื่อช่วยเสริมสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง  

ล่าสุด หมอเลี้ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรมว.คลัง อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขานุการของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย ทางช่อง 9MCOT ว่า ในวันที่ 3 ต.ค. 66 จะมีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาล และจะมีการจัดตั้งบอร์ดบริหารที่ทำหน้าที่คอยขับเคลื่อนดำเนินการในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะมี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นั่งตำแหน่งประธานบอร์ด ส่วนคณะกรรมการก็จะประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ และจะมีการตั้งอนุกรรมการเป็นด้านๆ ไป 

สำหรับซอฟต์พาวเวอร์นั้น ในระดับประเทศจะมีการผลักดันให้เกิดเป็นเทศกาลเฟสติวัล สร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศแห่งเทศกาล เหมือนกับเมืองเอดินบะระ ของสก็อตแลนด์ ที่มีคนเดินทางไปท่องเที่ยวเป็น ลำดับรองลงมากจากฟุตบอลโลก และโอลิมปิก ส่วนประเทศไทยเทศกาลที่เห็นได้ชัด คือ สงกรานต์ ถือเป็นเดือนแห่งวอเตอร์เฟสติวัล ส่วนต่อไปอาจจะมีจัดเทศกาลอื่นทั้ง 12 เดือนก็เป็นได้ 

แต่เรื่องเทศกาลเฟสติวัลนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่นอาหาร เหมือนที่เคยทำสำเร็จอย่างครัวไทยไปครัวโลก อาหารไทยทั้ง ผัดไท พะแนง ผัดกะเพรา เป็นอาหารที่ดีลำดับต้นของโลก แต่ร้านอาหารไทยทั่วโลกกลับมีแค่ 15,000 ร้านเท่านั้น 

ซึ่งเรื่องนี้ได้ปรึกษากับทาง เชฟชุมพล แจ้งไพร ว่าอาจจะให้มีการฝึกอบรมเชฟอาหารไทยให้ได้อย่างน้อย 80,000 คน และหากมีความต้องการเปิดร้านอาหารไทยที่ต่างประเทศ ก็จะประสานทูตพาณิชย์ให้ช่วยผลักดัน และหากสามารถเปิดได้ตามจำนวนทั้งหมดจะช่วยโฆษณาประเทศไทยได้มาก 

นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งองค์กรของรัฐขึ้นมาชื่อว่า “ทักก้า” เพื่อดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ทั้งเรื่องงบประมาณและขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆ เช่น ปัจจุบัน ใครอยากจัดเทศกาลดนตรีก็ต้องติดต่อหลายๆหน่วยงาน บางทีก็ติดขัดปัญหา แต่ต่อไปสามารถติดต่อ ทักก้า ได้โดยตรง ทุกอย่างจะจบครบแบบ One Stop Service  

ส่วนเรื่อง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ที่หลายคนให้ความสนใจนั้น ใน 100 วันแรกหลังการประชุมบอร์ด จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียน ก่อนจะมีกระบวนกลั่นกรองและคัดเลือก โดยจะเริ่มจากการดูว่าครอบครัวไหนมีบุคคลที่มีความสามารถอะไร ต้องการประกอบอาชีพอะไร ก็จะส่งไปอบรมยังโรงเรียนสารพัดช่างใกล้ๆ แต่หากคนไหนมีความสามารถมากกว่านั้น มีพรสวรรค์ เช่น ต้องการเป็นเชฟ การอบรมในสถาบันสอนอาหารก็มีค่าใช้จ่ายหลักแสนหลักล้าน ซึ่งตรงส่วนนี้ก็จะฟรีทั้งหมด หรือในด้านกีฬา หลายคนถามว่าฟุตบอลไทยจะไปบอลโลกได้ไหม ตรงส่วนนี้เราจะมีการปรับเปลี่ยนลีกการแข่งขันใหม่เพื่อให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้นทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาคด้วย 

จับตาดูนโยบายซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หลังจากวันที่ 3 ต.ค. 66 เราคงจะได้เห็นนโยบายดังกล่าวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น 

คลิปอีจันแนะนำ
เอ็นดูหนูน้อย นั่งร้องไห้ยกใหญ่ ถามแม่ ทำไมรูปนี้ไม่มีหนู