เปิด 3 วิบากกรรม “พิธา-ก้าวไกล” หลังศาล รธน. มีมติถาม อสส. กรณี ม.112

ดร.ธนพร ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย วิเคราะห์ 3 วิบากกรรมที่ “พิธา-ก้าวไกล” จะต้องเผชิญ หลังศาล รธน. มีมติถาม อสส. กรณี ม.112

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.66) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้สอบถามอัยการสูงสุด รับคำร้อง คดี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เสนอแก้ ม.112 หรือไม่ พร้อมให้แจ้งต่อศาลทราบภายใน 15 วัน

ศาล รธน. สั่ง อสส. แจงรับหรือไม่รับคำร้อง ‘พิธา-ก้าวไกล’ แก้ ม.112

วันนี้ (27 มิ.ย.66) รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย วิเคราะห์ประเด็นนี้ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย ทางช่อง 9 MCOT ว่า จะส่งผลต่อนายพิธา และพรรคก้าวไกล เป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามมุมมองของรัฐศาสตร์ ดังนี้

ระยะสั้น เรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลจะยากขึ้นไปอีก เพราะสิ่งที่ ส.ว.หรือ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งการ์ดสูง คือเรื่อง ม.112 เมื่อเรื่องนี้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ฉะนั้นการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญจะยิ่งตอกย้ำ หากผลออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญจริง ส.ว.ก็อาจใช้อ้างได้ว่าจะให้โหวตคะแนนให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายขัดต่อรัฐธรรมนูญได้อย่างไร นี่คือความเสี่ยงในระยะสั้นที่ทำให้การประสานกันระหว่างพรรคก้าวไกลกับ ส.ว.ยากขึ้น หรือเพียงครบ 15 วัน แล้วศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าอัยการไม่ได้ทำตามเงื่อนไข ตามมาตร 49 ก็ก่อให้เกิดสิทธิของผู้ร้อง ซึ่ง ส.ว.ก็สามารถอ้างได้ว่านี่เป็นประเด็นปัญหา

ระยะกลาง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไข ม.122 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งผลกับนายพิธา และพรรคก้าวไกล เพราะคนที่ร้องเขาร้องทั้งหัวหน้าพรรคและตัวพรรค ซึ่งหัวหน้าพรรคอาจมีคนไปแจ้งความ ส่วนพรรคก็อาจโดนร้องต่อซึ่งอาจถึงขั้นยุบพรรค

ระยะยาว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประเด็นนี้จะเป็นการปิดประตูในการแก้ไข ม.112 เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ซึ่งการแก้ไขต้องเกิดที่พรรคการเมืองเพื่อนำไปแก้ไขในสภา เมื่อเคยมีพรรคการเมืองที่มีนโยบายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่มีใครกล้าเสนออีก เพราะได้เกิดบรรทัดฐานในศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

จากนี้เราคงต้องรอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ต่อไปว่าจะเป็นเช่นไร

ขอบคุณข้อมูลจาก รายการ เจาะลึกทั่วไทย ทางช่อง 9 MCOT

คลิปอีจันแนะนำ
พิธา ก้าวไกล ตอบปม คาใจหลายคน แก้ ม.112