“นิพิฎฐ์” วิเคราะห์ ม.151 ที่ กกต.ใช้ตรวจสอบ “พิธา”

นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ วิเคราะห์ ม.151 ที่ กกต.ใช้ตรวจสอบ “พิธา” ชี้ กกต.ยก ม. 151 ขึ้นมาแสดงว่าต้องมีเหตุ และเป็นเหตุที่เพียงพอ ส่วน กกต.คิดเองหรือมีคนอื่นส่งเหตุมาให้อันนี้ไม่รู้

เป็นประเด็นร้อนในช่วงสุดสัปดาห์ กรณีการถือหุ้น ไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับคำร้องเรื่องการถือหุ้น ไอทีวี ของนายพิธาไว้พิจารณา ตามาตรา 151

กกต.ระบุว่า เนื่องจากกรณีคำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์และมีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไป ว่า นายพิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และทราบอยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็ยังสมัคร อาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ลือหึ่ง ผลประชุม กกต. ไม่รับคำร้อง พิธา ปมถือหุ้น ITV ชี้ ร้องเกินเวลา

ล่าสุด วันนี้ (12 มิ.ย.66) นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ นักกฎหมาย แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “เจาะลึกทั่วไทย” ทางช่อง 9 MCOT เกี่ยวกับประเด็นที่ กกต.ยกเรื่องที่จะไต่สวน นายพิธา ตามมาตรา 151 ว่า การที่ กกต. ยก มาตรา 151 ขึ้นมา ต้องดูมาตรา 53 ประกอบด้วย และต้องมีเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องดูข้อมูลมาระดับหนึ่งแล้วว่ามีเหตุและควรเชื่อได้ว่าจึงส่งเรื่องมาที่ กกต.

การยื่นร้องตามมาตรา 151 ถือเป็นคดีอาญา เรื่องนี้จะถูกส่งไปที่ศาลยุติธรรม ซึ่งหลายคนมองว่าจะใช้เวลาดำเนินการเป็นปี ทว่า นายนิพิฎฐ์ บอกว่า ต้องดูมาตรา 53 ประกอบด้วย ก่อนประกาศผลในระหว่างที่ยก มาตรา 151 ขึ้นมา และระหว่างสอบข้อมูลหากมีเหตุเกิดขึ้น ก็สามารถตัด คุณพิธา ออกไปได้เลย ตามมาตรา 53 กกต.ไม่รับรองผลการเลือกตั้ง แต่ถ้าระหว่างที่สอบข้อมูลโดยดูมาตรา 151 และมาตรา 53 แล้วเวลาไม่พอ กกต.ก็สามารถรับรองผลก่อนได้ โดยใช้มาตรา 82 ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับกระบวนการตรวจสอบตามมาตรา 151  จะเริ่มจากการพิจารณาตามมาตรา 53 คือ ไต่สวนเรื่องที่มีเหตุ ไต่สวนเรื่องที่ควรเชื่อได้ว่าให้ตกผลึกก่อน ถ้าตกผลึกก่อนการรับรองผลการเลือกตั้ง ก็สามารถที่จะไม่รับรองผลการเลือกตั้งได้

ขณะเดียวกันดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 ก็ตรวจสอบไปเรื่อย ๆ ถ้าตกผลึกไม่ทันก็รับรองผลการเลือกตั้งของคุณพิธาไปก่อนก็ได้ตามมาตรา 53

แต่ถ้ารับรองผลการเลือกตั้งของคุณพิธาไปแล้วตามมาตรา 53 และเกิดเหตุขึ้นภายหลัง ก็ตามตรวจสอบได้อีกตามมาตรา 82 โดยส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ 3 ช่องทาง คือ ส.ส. 50 คนยื่นเรื่อง หรือ ส.ว. 25 คนยื่นเรื่อง ซึ่งคิดเป็น 10% ของจำนวน ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งอีกแนวทางคือ กกต.ยื่นเรื่องเอง

“การยื่นเรื่องเป็นการยื่นผ่านประธานสภา และไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อยื่นเรื่องแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งให้คุณพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ เหมือนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ที่ศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยการยื่นเรื่องไม่ได้มีการกำหนดว่ารับรองผลกี่วันแล้วถึงยื่นได้ แต่สามารถยื่นได้ทันทีหากเข้าเงื่อนไข ส่วนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกรอบเวลาการพิจารณา แต่ก็ควรจะเร็ว”

ผู้ดำเนินรายการ ได้จำลองสถานการณ์ว่า เมื่อ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งของคุณพิธาแล้ว และในจังหวะที่มีการโหวตนายกรัฐมนตรี บังเอิญศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และรับเรื่องไว้พิจารณา สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคในการโหวตเลือกคุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ณ วันโหวตนายกรัฐมนตรี

นายนิพิฎฐ์ ให้ความเห็นว่า ก่อนที่จะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคาดว่าจะมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีความแน่นอนอะไร แต่ถ้าศาลสั่งให้คุณพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็มีผลต่อการโหวตเลือกคุณพิธาอยู่แล้ว เพราะเลือกไปก็เป็นไม่ได้

นายนิพิฎฐ์ บอกว่า เรื่องนี้ยังอีกยาว โดยมองว่า กกต. น่าจะดำเนินการหลังรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อนำเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ การยกมาตรา 151 ขึ้นมาแสดงว่าต้องมีเหตุ และเป็นเหตุที่เพียงพอ ซึ่ง กกต. ตื่นขึ้นมาคงไม่ยกมาตรา 151 ขึ้นมาเลย แต่คิดว่าเขาต้องมีเหตุที่จะยก และมีเหตุแล้ว ส่วน กกต.คิดเองหรือมีคนอื่นส่งเหตุมาให้อันนี้ไม่รู้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือการสู้กันด้วยข้อเท็จจริง เรามีข้อเท็จจริงแต่เรามีไม่หมด

นายนิพิฎฐ์ ระบุว่า การตีความในเรื่องจำกัดสิทธิบุคคลศาลฎีกามีเหตุผลมาก เพราะต้องตีความแบบเคร่งครัด ซึ่งขณะนี้มีคนอยู่ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถือข้างศาลฎีกา อีกฝ่ายถือข้างศาลรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนเมื่อตัวเองได้ประโยชน์ก็จะถือข้างต่างกัน

คลิปอีจันแนะนำ