จันพาทัวร์ พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน การละเล่นโบราณ สืบสานจากความเชื่อ

ประเพณีบุญหลวง ทุกเดือน 6 ผีตาโขน จังหวัดเลย การละเล่นโบราณที่สืบสานมาจากความเชื่อ

ประเพณีบุญหลวง จัดทุกเดือน 6 ของ จังหวัดเลย คือ การละเล่น ผีตาโขน มีที่เดียวในประเทศไทย

วันนี้ (18 มิ.ย. 65) จันจะพาทุกคนไปทัวร์พิพิธภัณฑ์ ที่รวมกลิ่นอายอดีต ประวัติศาสตร์และความเชื่อเอาไว้ คือ พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน

พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ วัดโพนชัย วันโบราณอายุกว่า 400 ปีที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นสถานที่เก็บ และจัดนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่สืบต่อกันมา รวมถึง ผีตาโขน ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบทอดมาแต่โบราณกาลว่า งานบุญผีตาโขนนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญหลวง ที่ถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่นที่รวมเอางานบุญพระเวส (ฮีตเดือนสี่) และงานบุญบั้งไฟ (ฮีตเดือนหก) ให้เป็นงานบุญเดียวกัน

โดยงานบุญพระเวสมีวัตถุประสงค์จัดเพื่อให้ฟังเทศน์มหาชาติ ส่วนงานบุญบั้งไฟนั้นเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อถวาย บูชาเทวาอารักษ์รักเมือง ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล

ส่วน ผีตาโขน จะเป็นผู้ออกมาสร้างสีสันและความครื้นเครงในขบวนแห่ และชื่อของผีตาโขนนั้นเล่าต่อกันมาว่าน่าจะมาจากการสวมหน้ากากคล้ายหัวโขน หรือบางคนเรียกเป็นผีตาขน ผีตามคน และเพี้ยนเป็นผีตาโขนในที่สุด

นอกจากส่วนที่จัดแสดงประวัติวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ แล้วภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงหุ่นผีตาโขนที่มีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน และมี 2 ประเภท

1. ผีตาโขนน้อย คือ การเล่นผีตาโขนแบบใส่หน้ากาก และใช้ผ้าคลุมร่างกายให้มิดชิด ไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขในการทำหน้ากาก จึงนิยมเล่นกัน ผีตาโขนน้อยต้องมีอาวุธประจำกายทุกตัว เป็น “ดาบ” หรือ “ง้าว” ด้ามจับแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชาย ตรงปลายดาบนิยมทาสีแดง

2. ผีตาโขนใหญ่ คือ หุ่นผีตาโขนที่มีขนาดใหญ่มากและสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ ซึ่งจะให้คนเข้าไปอยู่ในหุ่น และยังมีความเชื่อว่า จะทำผีตาโขนใหญ่มากกว่า 2 ตัว ใน 1 ขบวนไม่ได้ เราจึงมักเห็น ผีตาโขน 2 ตัว เป็นชาย 1 ตัว หญิง 1 ตัว ในขบวนแห่เสมอ

หน้ากากผีตาโขน มีส่วนประกอบดังนี้

1. หัวของผีตาโขน ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียวมาหักพับขึ้นให้มีลักษณะคล้ายหมวก

2. หน้าทำจากโคนก้านมะพร้าว ถากเป็นรูปหน้ากาก เย็บต่อกับส่วนหัว แล้วเจาะช่องตา

3. จมูกทำจากไม้เนื้ออ่อนแกะสลักเป็นรูปร่างต่างๆ คล้ายกับจมูกคน ปัจจุบันนิยมทำยาวเป็นงวงช้าง

4. เขาทำจากปลีมะพร้าวแห้ง นำมาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการแล้วติดที่ข้างหวด

5. การตกแต่งลวดลายเมื่อก่อนนิยมใช้สีธรรมชาติ เช่นปูนขาว ปูนแดง ขี้เถ้า ขมิ้น เขม่าไฟ ปัจจุบันนิยมสีน้ำมันเพราะสะดวกและมีสีสันสดใส จากนั้นจะนำเศษผ้ามาเย็บต่อกับหวดและหน้ากากให้ผ้าคลุมมิดไหล่ สำเร็จเสร็จกลายเป็นหุ่นผีตาโขนในที่สุด

ขณะที่จันเดินชม หน้ากากผีตาโขน ประวัติต่างๆของวัดและประเพณี ได้เห็นรูปในอดีต ทำให้จันรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น ทุกสิ่งอย่างแฝงกลิ่นอายของอดีตเต็มไปหมด สบายใจ สงบอย่างบอกไม่ถูก

และในปี 2565 นี้ ประเพณีการละเล่นผีตาโขน จะจัดขึ้นในวันที่ 1-3 กรกฎาคม ใครลองสัมผัสกลิ่นอายประวัติศาสตร์ที่สืบทอดกันมาตรมความเชื่อคนเมืองเลย ลางานล่วงหน้าได้เลยนะคะ

ใครเคยมาชมพิพิธภัณฑ์แล้ว หรือเคยมาร่วมงานประเพณีแล้ว อวดรูปให้จันดูบ้างนะคะ

คลิปอีจัน แนะนำ