เอกชน เบรก ‘กรมสรรพสามิต’ ขึ้นภาษีความหวาน

ภาษีความหวาน เตรียมขึ้น 1 เม.ย.นี้ เอกชน อ้อน ‘กรมสรรพสามิต’ เลื่อนใช้ออกไปก่อน

หลังกรมสรรพสามิต โดยนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66 กรมสรรพสามิต จะเริ่มปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล ระยะที่ 3 (หลังสิ้นสุดระยะเวลาคงภาษี 6 เดือน ตามมติคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ที่เห็นชอบให้คงภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65-31 มี.ค.66)

ภาษีความหวาน ขึ้นแน่ 1 เม.ย.นี้ สรรพสามิต เชื่อราคาเครื่องดื่มไม่ขึ้น

โดยสำหรับภาษีความหวาน ระยะที่ 3 ที่เริ่มเก็บตั้งแต่ 1 เม.ย.66-31 มี.ค.68 มีอัตรา ดังนี้

ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี

ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร คิดอัตราภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร จากปัจจุบัน 10 สตางค์ต่อลิตร

ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 30 สตางค์ต่อลิตร

ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 1 บาทต่อลิตร

ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 3 บาทต่อลิตร

ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 5 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิต จากปริมาณน้ำตาล 2 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้เครื่องดื่ม ที่มีลักษณะเป็นผง เกร็ด หรือเครื่องดื่มเข้มข้น ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและสามารถละลายน้ำได้ โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษี ก็คือ ผู้ประกอบอุตสาหกรรม และผู้นำเข้า

ขณะที่ อัตราภาษีสรรพสามิตจากค่าความหวานมี 2 ประเภท แบ่งเป็น 1.อัตราภาษีตามมูลค่า จะคำนวณจากราคาขายปลีกแนะนำ และ 2.อัตราภาษีตามปริมาณจะคำนวณตามปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่มนั้นๆ

สูตรคำนวณภาษีความหวาน

วิธีคำนวณภาษีสรรพสามิต กฎหมายกำหนดให้เสียภาษีตามมูลค่า หรือตามปริมาณของสินค้า หรือทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณของสินค้า (1) ภาษีตามมูลค่า (2) ภาษีตามปริมาณ

(1) ภาษีตามมูลค่า = อัตราภาษี x ฐานภาษี (ราคาขายปลีกแนะนำ)

(2) ภาษีตามปริมาณ = อัตราภาษี x ขนาดบรรจุ

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยว่า ขอให้กรมสรรพสามิต เลื่อนการปรับขึ้นภาษีความหวานออกไปก่อน เนื่องจากปัจจุบันเกิดภัยแล้ง วัตถุดิบหลายตัวมีการปรับขึ้นราคา อีกทั้ง ที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตหลายด้านมีการปรับขึ้น เช่น ค่าแรง น้ำตาล ค่าไฟฟ้า จึงอาจกระทบต่อราคาสินค้า ซึ่งการปรับขึ้นราคาแก่คู่ค้าและผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และไม่ควรลดความสามารถการแข่งขันในต่างประเทศ

“ภาคเอกชนยินดีร่วมมือกับรัฐบาล เครือข่ายสุขภาพและองค์การอนามัยโลก ในการช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดการบริโภค อาหารหวาน มัน เค็ม ที่ทำให้เป็นบ่อเกิดหลายโรค ผู้บริโภคเลือกไม่ซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม แต่อาจเลือกรับประทานในร้านอาหารแทนได้ ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคเพื่อตระหนักรู้ว่า ควรบริโภคอาหารอย่างไรไม่เป็นพิษภัยต่อตัวเอง จึงสำคัญที่สุด”
นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าเครื่องดื่มปี 66 เทียบปี 65 พบว่า มูลค่าส่งออกเทียบเดือนต่อเดือนในเดือนมกราคม หดตัว -8% ที่ 4,999 ล้านบาท จากที่เคยมีมูลค่า 68,781 ล้านบาท ดังนั้น การวางนโยบายการจัดเก็บภาษี ควรให้เหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นับเป็นเรื่องที่สร้างความท้าทายในปัจจุบัน

คลิปอีจันแนะนำ
เรื่องเล่าจากทายาทรุ่นที่ 5 ตำนานคฤหาสน์ร้างร้อยปี! @ระนอง