
(วันนี้ 27 พ.ค.68) ต้นปี 2025 ที่ควรจะเป็นปีทองของภาคท่องเที่ยว กลับเริ่มต้นด้วยความเงียบผิดปกติ นักท่องเที่ยวจีนที่เคยหลั่งไหลเข้ามาอย่างคึกคัก กลับหดตัวลงอย่างน่าตกใจจากระดับเฉลี่ย 560,000 คนต่อเดือน เหลือเพียง ไม่ถึง 300,000 คน หลังจากเทศกาลตรุษจีน ลดลงเกือบครึ่งในช่วงเวลาเพียง 3 เดือน
KKP Research วิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์นี้ ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว หากสะท้อนความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ลึกและยาวนาน อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทยตลอดทศวรรษ
3 แรงกระแทกซัดนักท่องเที่ยวจีนหายจากแผนที่ท่องเที่ยวไทย
1. จีนส่งเสริมเที่ยวในประเทศ เงินไม่สะพัดนอก
จีนกำลังเผชิญเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลจึงหันมาใช้นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนขาออกยังฟื้นตัวเพียง 86.5% ขณะที่การเที่ยวในประเทศฟื้นเกือบเต็ม 93.6% นั่นแปลว่าเงินที่เคยไหลออกมากลับถูกดูดกลับเข้าไปในจีน
2. นักท่องเที่ยวอิสระมาแทนกรุ๊ปทัวร์
หลังโควิด พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากที่เคยพึ่งพาทัวร์ถึง 40% ตอนนี้เหลือแค่ 20% ขณะที่นักท่องเที่ยวอิสระ (FIT) เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงกว่า คาดหวังคุณภาพและความปลอดภัยมากกว่า “ราคาถูก” แบบเดิมแปลตรงๆ ว่า นโยบายลดแลกแจกแถมไม่ได้ผลอีกต่อไป และไทยต้องยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวให้สอดรับกับความต้องการที่เปลี่ยนไป
3. “ไม่ปลอดภัย” คำเดียวทำไทยร่วงจากเรดาร์
ผลสำรวจล่าสุดจาก Dragon Trail International ชี้ชัดว่า นักท่องเที่ยวจีนกว่า 50% มองว่าไทยไม่ปลอดภัย เพิ่มขึ้นจาก 38% เพียง 6 เดือนก่อนหน้า จากข่าวลักพาตัวดาราจีน คดีธุรกิจสีเทา และเหตุไม่สงบอื่น ๆ ที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ด้านลบ ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และมาเลเซีย กลับไม่ได้รับผลกระทบในด้านความเชื่อมั่นเท่าไทย
ใครจะมาแทนจีน? คำถามใหญ่ที่ยังไร้คำตอบชัด
แม้จะมีความหวังจากตลาด ยุโรปและเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดียที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีจำนวนเกือบ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วงต้นปี 2025 แต่ก็ยังแทนที่จีนไม่ได้ทั้งในเชิงจำนวนและเม็ดเงิน
KKP Research ระบุว่า
- นักท่องเที่ยวยุโรปมักเน้นท่องเที่ยวคุณภาพสูง เที่ยวภาคใต้ ชอบแหล่งวัฒนธรรม
- อินเดียเน้นกรุงเทพฯ พัทยา ใช้จ่ายกับกิจกรรมบันเทิงและชอปปิงมากกว่า
ถึงแม้จะมีศักยภาพ แต่พฤติกรรมต่างจากนักท่องเที่ยวจีนโดยสิ้นเชิง ต้องการนโยบายส่งเสริมที่เฉพาะเจาะจงและตรงกลุ่ม
ทางรอดไทยต้องเริ่มที่ “ความปลอดภัย” ไม่ใช่ “ราคา”
ในระยะสั้น ไทยอาจต้องยอมรับความจริงว่า นักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมาเต็มจำนวน และหันไปลงทุนในตลาดใหม่อย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของไทยในสายตานักท่องเที่ยวโลกต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในมิติความปลอดภัย ซึ่งกลายเป็น “ตัวแปรชี้ชะตา” การท่องเที่ยวยุคใหม่ เพราะในยุคหลังโควิด “ราคาถูก” ไม่ใช่จุดขาย แต่ “รู้สึกปลอดภัย” ต่างหากที่นักท่องเที่ยวพร้อมจ่ายแพง