
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือก.ล.ต. (SET) ให้สัมภาษณ์ในการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2568 ครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อ “รู้ทันโลกการเงิน ทลายหนี้ สู่ความยั่งยืน” ว่า ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ณ วันนี้ตลาดมีความผันผวนจากปัจจัยหลายอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องภาษีสหรัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน และยังเชื่อว่าทีมไทยแลนด์ยังทำงานเต็มที่ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมของทั้งสองฝ่ายได้แบบวิน-วิน
โดยพื้นฐานเศรษฐกิจในปัจจุบันการเติบโตเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องแก้ไขปรับปรุงร่วมกัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าปี 68 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งประเทศ (GDP) ไทยจะเติบโตได้ที่ 2.3% แต่ยังมีความไม่แน่นอน ที่จะเป็นปัจจัยกดดันทำให้ GDP เติบโตต่ำลงได้ หากดูตามที่บริษัทจดทะเบียนของไทย ณ วันนี้ในส่วนของ P/E อยู่ในระดับต่ำ แต่ Dividend Yield ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่งโดยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเติบโตไม่ใช่ถดถอย อีกทั้ง หากมองตามพื้นฐานของนักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่า Downside Risk ค่อนข้างต่ำ

ดังนั้นต้องกลับมาดูที่ปัจจัยพื้นฐานว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้เร็วกว่าเดิม โดยสิ่งหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามผลักดันอยู่ คือ โครงการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน (JUMP+) เพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วางแผนเติบโตในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างความชัดเจน และคาดหวังว่าจะดึงดูดนักลงทุนให้เห็นถึงศักยภาพบริษัทจดทะเบียนของไทยให้มากขึ้น
“ท้ายที่สุดแล้ว เท่าที่ฟังจากนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนกองทุนต่างประเทศที่พบมาเขาอยากจะได้ความเชื่อมั่นในการเติบโตของธุรกิจเรา ทำยังไงให้เขาเห็นว่ามีศักยภาพโตมากกว่า GDP ด้วยซ้ำไป อยากจะเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย เข้ามาช่วยกันสื่อสารให้กับนักลงทุนทราบว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราจะเติบโตอย่างไร” นายอัสสเดช กล่าว
ทั้งนี้เชื่อว่ายังมีหลาย “เซกเตอร์” ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน และต้องสื่อสารไปให้นักลงทุนรับทราบ เช่น Health care ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ทุกภาคส่วนต้องให้ความช่วยเหลือ เพราะทุกวันนี้เติบโตค่อนข้างช้า ซึ่งต้องสร้างความชัดเจนว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้อย่างไร โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ขณะเดียวกัน หลายคนมองว่าบริษัทจดทะเบียนเป็นอุตสาหกรรมเก่าจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องจริง โดยเป้าหมายหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามวางแผน คือ ต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานดึงดูดเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) เข้ามาในตลาดทุนเพื่อให้มีความน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงยังได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อหารือถึงการปรับขั้นตอนหลักกฏเกณฑ์ให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงได้ตลาดทุนได้ง่ายขึ้นด้วย
นายอัสสเดช กล่าวว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังหากการเจรจาภาษีสหรัฐ มีข้อตกลงที่ชัดเจนและไทยสามารถแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศได้ ก็จะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นและวิเคราะห์ได้ว่าอุตสาหกรรมไหนสามารถแข่งขันได้ และสิ่งที่อยากจะเห็น คือ การใช้งบประมาณของประเทศ เพื่อเป็นตัวกระตุ้นที่จะดึงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ ส่วนมาตรการการช่วยเหลือ บมจ. ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อรองรับผลกระทบภาษีทรัมป์ สิ่งเราที่ทำมาโดยตลอดและในอนาคตที่มองเห็นยกตัวอย่างเช่นเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น อย่างเช่นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM โดยสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ อยากทำต่อและทำเพิ่มเติมคือ การเป็นศูนย์กลางสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับมือกับกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ น้อยลง
“เนื่องจากเราเป็นศูนย์กลาง เป็นตัวเชื่อมได้ว่าเราจะสร้างแพลตฟอร์มกลางอย่างไรให้บริษัทจดทะเบียนมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในเรื่องพวกนี้น้อยลง ถ้าปล่อยให้ทุกคนออกไปนั่งลงทุน จ้างคน เทรนด์คน ลงระบบเองทุกคน บริษัทเล็ก ๆ เหนื่อยแน่นอน เพราะฉะนั้นหน้าที่ที่เราทำได้ก็คือ การลงทุนในแพลตฟอร์มพวกนี้ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในอนาคตที่จะดำเนินการตรงตามกฎเกณฑ์ของโลกลดลงได้อย่างไร” นายอัสสเดช ระบุ
นายอัสสเดช ย้ำว่า ข้อดีของเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีการเติบโต ไม่ได้อยู่ในช่วงถดถอย แม้ว่าจะเติบโตช้าก็ตาม เชื่อว่ายังมีโอกาสในตลาดทุนไทยและยังมีความน่าสนใจอยู่ ซึ่งนักลงทุนควรวิเคราะห์ข้อมูลให้ดีว่าแต่ละบริษัทจดทะเบียนมีภาวะการแข่งขันเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าเรื่องภาษีหากอยู่ในระดับต่ำ หรือ สูง ก็จะมีผลกระทบกับบางธุรกิจบางอุตสาหกรรมที่ส่งออก ดังนั้น ต้องเลือกและวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี โดยหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะให้ความช่วยเหลือได้ก็คือ การมีข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และชัดเจน ในการไปตัดสินใจการลงทุน
อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีก 3 สัปดาห์ก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 1 ส.ค. ภาษีสหรัฐจะมีผลบังคับใช้ หากดูทิศทางความเคลื่อนไหวของตลาดที่ผ่านมา คาดนักลงทุนวิเคราะห์ไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นความผันผวนน่าจะอยู่ในวงแคบและคิดว่ามีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจแล้ว