
(วันนี้ 14 ก.ค.68) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดประชุม “บูรณาการแผนปฏิบัติการ ททท. ปี 2569” (Tourism Authority of Thailand Action Plan 2026: TATAP 2026) ระหว่างวันที่ 14 – 17 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายและแผนการตลาดสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปีหน้า
การประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากระดับนโยบายและผู้บริหารสำคัญ อาทิ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. ตลอดจนผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และสำนักงานต่างประเทศทั่วโลก
นายจักรพล ระบุว่า การท่องเที่ยวไทยต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วสอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญกับการ “สร้างสมดุล” ลดการพึ่งพาตลาดหลัก พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเน้นการเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตในอนาคต ขณะเดียวกัน ต้องผลักดันกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ อาทิ กลุ่มสุขภาพ (Health & Wellness), การท่องเที่ยวทางน้ำ (Cruise), และกลุ่มที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงเดินหน้าสร้างการรับรู้ด้าน “ความปลอดภัย” ของประเทศไทยให้เด่นชัด

ด้านนางสาวฐาปนีย์ ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า ในปี 2569 ททท. ตั้งเป้าเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าปีก่อนหน้า 7% หรือโดยปีนี้ ททท.ตั้งเป้าไว้ประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยใช้แนวคิด “Value over Volume” สร้างรายได้มากขึ้น แต่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการสู่ความยั่งยืนระดับสากล

กลยุทธ์การตลาดจะขับเคลื่อนด้วยหลัก 7S ได้แก่
- Segment การทำงานโดยการกระจายเป้าหมายในส่วนต่างๆมากขึ้น
- Speed การเร่งทำการตลาด เนื่องจากปัจจุบันต้องเผชิญความท้าทายสูงจากตลาดคู่แข่ง
- Systematic ด้วยการใส่ใจในทุกๆข้อมูลพื้นฐานและการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการต่อยอด
- Safety แก้ปัญหาและสร้างภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
- Sustainability ด้วยการเพิ่มรายได้แต่อัตราการทำลายสิ่งแวดล้อมต้องลดลง
- Supply chain ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด ในการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว
- Soft power ในการกระตุ้นนโยบายของรัฐบาลผ่านเสน่ห์ของไทยใน 77 จังหวัด
ทั้งนี้ ตลาดสำคัญที่ ททท. ให้ความสำคัญ ได้แก่
- ยุโรป : โดยเฉพาะ สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี ซึ่งถูกจัดให้เป็น “Million Market”
- อเมริกา : มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- ตะวันออกกลาง : มีการเติบโตมากถึง 18% ในปีนี้
- ตลาดจีน : แม้ยังชะลอตัวจากประเด็นด้านความปลอดภัย แต่ยังคงเป็นเป้าหมายหลักในช่วงไตรมาสสุดท้าย

ขณะที่ตลาดในประเทศ ททท. เร่งกระตุ้นการเดินทางผ่านกิจกรรมขนาดใหญ่ตลอดทั้งปี และโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ซึ่งล่าสุด วันที่ 14 ก.ค. 68 เวลา 9.30 น. มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.725 ล้านคน ใช้สิทธิ์สำเร็จ 119,213 สิทธิ์ โดยยังเหลือสิทธิ์อีก 380,787 สิทธิ์ คาดว่าทั้งหมดจะถูกใช้หมดภายในปลายเดือนนี้
ทั้งนี้ ททท. จะประเมินอัตราค่าเฉลี่ย (Average Room Rate) ของผู้เข้าร่วม หากต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคืน อาจมีการจัดสรรงบส่วนที่เหลือสำหรับเฟสถัดไปตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 5,748 ราย เป็นกิจการโรงแรม 3,223 ราย และกิจการอื่นๆ อาทิ ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว สปา เป็นต้น 2,525 ราย
สุดท้าย ผู้ว่าการ ททท. ย้ำว่า การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลก ต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ด้วยการสร้างจุดขายใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเดินหน้าสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน