กรมควบคุมโรค เตือนกินหมูดิบเสี่ยงโรค ไข้หูดับ พบตายแล้ว 3 ราย

อย่าหากิน ! กรมควบคุมโรคออกเตือนประชาชน งดกินหมูดิบเหตุเสี่ยงเป็นโรค ไข้หูดับ เผยอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ พบภาคเหนือและอีสานแชมป์ยอดผู้ป่วย

เรื่องปากท้อง อาหารการกินก็เป็นอีกปัจจัยที่จะบอกโรคภัยได้อย่างเช่น โรค ไข้หูดับ ที่เราจะนำเสนอ บอกเลยค่ะว่าน่ากลัวมาก เพราะอาจทำให้หูหนวกไปตลอดหรือร้ายกว่านั้นถึงขั้นเสียชีวิตเลยค่ะ

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สำหรับสถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 22 มี.ค. 64 มีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 46 ราย เสียชีวิตแล้วกว่า 3 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่ม ผู้สูงอายุ และวัยทำงาน ได้แก่ อายุ 55-64 ปี รองลงมาคือ อายุมากกว่า 65 ปี และอายุ 45-54 ปี ภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ ลำปาง จันทบุรี และพิจิตร ตามลำดับ”

คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะงานเลี้ยงในช่วงเทศกาลต่าง ๆ อย่างเช่นลาบดิบ ก้อยดิบ หลู้ ที่ใช้เนื้อหมูดิบเป็นวัตถุดิบหลัก จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการป่วยโรคไข้หูดับ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อโรคไข้หูดับ ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงสัตว์ คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ คนชำแหละเนื้อหมู และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น

โดยกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ เป็นต้น โรคไข้หูดับ สามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา จากการรับประทานเนื้อหมูดิบ ไม่ผ่านความร้อนหรือปรุงสุก อาการจะออกหลังได้รับเชื้อไม่กี่ชั่วโมงจนไปถึง 5 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ รุนแรงถึงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำวิธีป้องกันโรคไข้หูดับ คือ

1. ผู้ที่เลี้ยงสุกร ควรใส่รองเท้าและถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานในคอกสุกร ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสุกร และหลีกเลี่ยงการจับซากสุกรที่ตายด้วยมือเปล่า

2. ผู้ที่ทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ ควรสวมใส่เสื้อและกางเกงที่ปกปิดมิดชิด ใส่รองเท้าบู๊ทและถุงมือ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสุกรโดยตรง และไม่หยิบจับอาหารเข้าปากขณะปฏิบัติงาน

3. ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ควรจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดแผงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย และเก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส

4. ผู้บริโภคควรรับประทานหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น และเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาวหรือสีคล้ำ ล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสกับเนื้อหมู ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูไม่สุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการรับประทานหมูดิบให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

อย่าลืมนะคะ เรื่องอาหารการกิน ควรกินแต่หมูที่ปรุงสุกเท่านั้น เพราะหากไม่โชคร้ายเป็นโรคหมูดับ ก็อาจจะเป็นพยาธิก็ได้ อันตรายต่อร่างกายเช่นเดียวกัน เชื่อจันสิว่าหมูปรุงสุกทำอะไรก็อร่อย ปลอดภัยมั่นใจกว่า