กรมประมง เผย คืบหน้าช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลานิล เหตุ น้ำท่วม

กรมประมง แจง ความคืบหน้าการให้ความ ช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลานิล ในกระชังลำน้ำชี หลังเหตุอุทกภัย

เนื่องจากเหตุ อุทกภัย จากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ส่งผลให้มวลน้ำขนาดใหญ่ ไหลทะลักผ่าน ลำน้ำชี ทำให้ปลาในกระชังน็อกน้ำตายเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ เกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์พร้อมออกพื้นที่ให้ความ ช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการไว้ โดย มีการมอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทำประมงน้ำจืดกาฬสินธุ์ (เขื่อนลำปาว) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดมหาสารคาม ในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดเรือลำเลียงปลาที่สามารถจำหน่ายได้ และปลาที่เน่าเสียขึ้นฝั่ง รวมทั้งหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

ซึ่งปัจจุบันสามารถสรุปยอดความเสียหายได้รวมมูลค่ากว่า 18 ล้านบาท มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 42 ราย กระชังที่ได้รับความเสียหาย 972 กระชัง ปริมาณผลผลิตปลานิลที่เสียหายประมาณ 300 ตัน โดยทางสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามได้มีการสำรวจข้อมูลด้านการ เลี้ยงปลานิล ของเกษตรกรในพื้นที่พบว่า มีการเลี้ยงใน 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การเลี้ยงแบบทำสัญญากับฟาร์มเอกชน

โดยเกษตรกรจะต้องซื้อลูกพันธุ์และอาหารปลาจากฟาร์มเอกชน เมื่อผลผลิตได้ตามขนาดที่ตลาดต้องการ ฟาร์มเอกชนจะรับซื้อคืน ตามราคาของตลาดและฟาร์มเอกชนจะให้ราคาเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งมีเกษตรกรทำ

การเลี้ยงลักษณะเช่นนี้ จำนวนถึง 30 ราย

2. เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงอิสระ โดยเป็นการเลี้ยงแบบจัดซื้อลูกพันธุ์และอาหารปลา รวมถึงจัดหาตลาดด้วยตนเอง

ล่าสุด กรมประมงได้มอบหมายให้ ประมงจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม และตัวแทนฟาร์มเอกชน จำนวน 3 ราย ที่ทำสัญญากับผู้เลี้ยงปลาในกระชังลำน้ำชี จัดประชุมหารือกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการได้ชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) กับกรมประมง สามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านทางหน่วยงานกรมประมงภายในจังหวัด ซึ่งจะได้รับพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้ในเรื่องเกษตรพันธะสัญญา ตลอดจนได้มีการหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากฟาร์มเอกชนที่ทำสัญญากับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ทั้งนี้ ตัวแทนฟาร์มเอกชนยินดีจะให้ความช่วยเหลือปัจจัยการผลิตด้านอาหาร

โดยจะให้เครดิตค่าอาหารปลาตลอดการเลี้ยงในรอบต่อไป ซึ่งผลปรากฏว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาพึงพอใจในการให้ความช่วยเหลือของฟาร์มเอกชนและขอบคุณหน่วยงานราชการที่เป็นสื่อกลางในการหารือในครั้งนี้