กรมประมง เพาะพันธุ์ ปลาหุด สัตว์น้ำหายาก ราคาสูง!

กรมประมง เพาะพันธุ์ สำเร็จครั้งแรก! ปลาหุดกว่า 2 แสนตัว พร้อมปล่อยสู่แหล่งต้นน้ำ…

กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ ปลาหุด หรือ ปลาพุด ปลาประจำถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง เรียกได้ว่า ในปัจจุบันนี้เป็น สัตว์น้ำหายาก และมีแนวโน้มลดจำนวนลงมาก เพาะพันธุ์ ด้วยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ อนุบาลอีก 2 เดือน เตรียมปล่อยคืนสู่ น้ำตกยอดน้ำ แหล่งต้นกำเนิด พร้อมมีนโยบายเร่งสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำประจำถิ่นที่เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ นำมาทดลองเพาะขยายพันธุ์และปล่อยคืนแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรักษาสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ให้คงอยู่ประจำถิ่น

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง โฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ปลาหุด หรือ ปลาพุด จัดเป็นปลาประจำถิ่นหายากของจังหวัดนครศรีธรรมราช อาศัยในแหล่งต้นน้ำ น้ำตก และลำธาร ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปลาพุดมีพฤติกรรมวางไข่เพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำหลากปลาพุดจะอพยพลงมาจากภูเขาว่ายน้ำลงมาตามลำคลองสาขาเพื่อวางไข่ ชาวบ้านจึงอาศัยช่วงเวลานี้จับปลาดังกล่าวเพื่อนำไปบริโภคและจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาพุดที่มีไข่จะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 700 – 1,000 บาท เนื่องจากเป็นปลาพื้นถิ่นที่หายาก มีรสชาติอร่อยและเป็นที่นิยมนำมาบริโภค จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านจับปลาพุดในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ปลาพุดมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น กรมประมงจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานกรมประมงในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาพุดจากสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ปลาพุด น้ำตกยอดน้ำ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยวิธียกยอ เพื่อให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช นำมาเพาะขยายพันธุ์ เพื่อนำไปปล่อยกลับคืนที่แหล่งอาศัยบริเวณต้นน้ำ น้ำตก และลำธารเพื่อฟื้นฟูพันธุ์ปลาพุดในท้องถิ่นเป็นแหล่งสร้างผลผลิต สร้างรายได้แก่ชุมชน

ทั้งนี้ กรมประมง ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูสัตว์น้ำหายากราคาสูง โดยให้มีการ เพาะพันธุ์ สัตว์น้ำ ปล่อยคืนแหล่งน้ำธรรมชาติเดิม เพื่อคงสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ในท้องถิ่นนั้นๆ จึงมีนโยบายเร่งดำเนินการฟื้นฟูพันธุ์ ปลาพุด ในพื้นที่ต้นน้ำ จังหวัดนครศรีธรรมราชภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น มีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ปลาพุด น้ำตกยอดน้ำ ตำบลเขาน้อย อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในธรรมชาติกับการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สอดคล้องกับนโยบาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำให้กรมประมงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูก และเป็นแหล่งประกอบอาชีพที่มั่นคงของประชาชนในพื้นถิ่น