กุญแจสู่ความสำเร็จ! ปลูกแตงโมพันธุ์เมญ่า สายพันธุ์ดีพิมพ์นิยมของภาคใต้

เคล็ดไม่ลับ ! สำหรับมือใหม่หัดปลูก แตงโมพันธุ์เมญ่า ที่ได้ผลผลิตงาม ตามแบบมืออาชีพ…

ประกิต เกิดขุมทอง เจ้าของไร่กิตรุ่งเรือง จ.สงขลา กูรูแตงโมภาคใต้ เป็นทั้งผู้ปลูกและผู้ขายแตงโมที่ประสบการณ์ปลูกแตงโมมืออาชีพมากว่า 20 ปี เผยถึงสาเหตุที่เลือกปลูก แตงโมสายพันธุ์เมญ่า เพราะมีรูปทรงเป็นทรงหมอนยาว ผิวสีเขียวเข้มสลับลายตาข่าย ถือเป็นสายพันธุ์ดีพิมพ์นิยมของภาคใต้ให้ลูกใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยมากถึง 4-7 กก. มีจุดเด่นคือ สามารถไว้ลูกข้อใกล้ได้ เบ่งผลใหญ่ไส้ไม่แตก จึงถูกใจคนปลูกและคนขาย เนื้อแน่นละเอียด สีแดงสวย รสหวานชื่นใจถูกใจผู้บริโภค

ส่วนเคล็ดลับการปลูกแตงโมให้ได้ผลิตผลสวยงาม โดนใจตลาดนั้น ประกิต แนะนำให้รู้จักการแต่งแขนงและจัดเถา โดยเลือกแขนงที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ต้นละ 3 แขนงเพื่อให้การออกดอกและติดผลดีขึ้น จากนั้นจัดเถาให้เป็นระเบียบไปในทิศทางเดียวกัน ง่ายต่อการจัดการแปลง ทั้งการดูแลกำจัดวัชพืช การผสมดอก และการเก็บเกี่ยว

การไว้ลูก ควรไว้ลูกที่ข้อ 13-15 คัดไว้เฉพาะลูกที่สมบูรณ์ที่สุด ต้นละไม่เกิน 2 ลูก เพื่อให้ได้ผลิตผลเกรดเอ ผลทรงสวยงามที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะพิเศษของ สายพันธุ์เมญ่า ในฤดูร้อน สามารถไว้ลูกข้อใกล้ได้ตั้งแต่ข้อ 8 โดยไม่ทำให้ไส้แตกและยังคงคุณภาพเกรดเอของผลิตผลไว้ได้เหมือนเดิม

“ การต่อดอกด้วยมือเป็นขั้นตอนที่หลายๆ คนมักมองข้ามแต่จริงๆ แล้วมีผลอย่างมากต่อการติดลูกที่สมบูรณ์ คือไม่ควรให้การผสมเกสรเกิดขึ้นตามธรรมชาติด้วยแมลง เพราะไม่สามารถควบคุมได้ว่าดอกไหนได้รับการผสมไปแล้วหรือการผสมนั้นสมบูรณ์หรือไม่ จึงแนะนำให้ต่อดอกด้วยมือ ด้วยการเด็ดดอกตัวผู้ที่บานมาปลิดกลีบออก แล้วจึงแต้มให้ละอองเกสรตัวผู้สีเหลืองจับอยู่บนเกสรตัวเมียอย่างทั่วถึงกัน ”

และสำหรับการบำรุงด้วยปุ๋ยนั้น ทางเจ้าของไร่กิตรุ่งเรือง แนะนำเน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษในช่วงติดผล ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-24 ไร่ละ 5 กก. ให้ผ่านระบบน้ำ 2 – 3 วันครั้ง และในช่วงพัฒนาผลจะให้วันเว้นวัน เพื่อการขยายขนาดผลให้ใหญ่ ทรงสวย ช่วยเพิ่มความหวาน เนื้อแน่นกรอบ สร้างรสชาติที่ดีให้กับ แตงโมเมญ่า

การป้องกันโรคจากเชื้อรา โดยเฉพาะการ ปลูกแตงโม ในพื้นที่มีฝนตกชุก วิธีที่ดีที่สุดคือการจัดการแปลงให้มีการระบายน้ำดี ยกร่องสูงไม่น้อยกว่า 30 ซม. และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเชื้อราในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำการใช้งานตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมแปลงปลูก โดยสารป้องกันโรคพืชต่างๆ จะงดใช้ก่อนเก็บเกี่ยวผลิตผลอย่างน้อย 7 – 14 วัน