ชมพู่เพชรสายรุ้ง ชมพู่ที่แพงที่สุดในโลก!

ไม่ลองไม่รู้! ผลไม้ดีเมืองเพชร ชมพู่เพชรสายรุ้ง ขึ้นชื่อว่าเป็น ชมพู่แพงที่สุดในโลก !

ถ้าให้พูดถึงของดีเมืองเพชร ไม่นึกถึง ชมพู่เพชรสายรุ้ง ไม่ได้แล้ว!! เรียกได้ว่าเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของเมืองเพชรเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นชมพู่ที่มีรสชาติหว๊านหวาน! เนื้อแน่น กรอบกัดเต็มคำ กินเข้าไปรับรองว่าไม่ผิดหวังที่ซื้อมาแน่นอน โดยเจ้า ต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง นั้น ปลูก-ดูแลง่ายมากๆ ใช้เวลาดูแลแค่ 3 ปีเท่านั้น ก็สามารถออกเก็บผลผลิตมาขายได้ และเนื่องจากชมพู่เพชรสายรุ้งที่มีราคาแพง ทำให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ สนใจนำต้นชมพู่เพชรสายรุ้งไปปลูกในท้องถิ่นของตน แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยการปลูกนั้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะ ต้นชมพู่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้

คุณยุทธนา อดีตนายก อบต. หนองโสน อำเภอเมือง จังหวัด เพชรบุรี เล่าว่า พื้นที่ตำบลหนองโสน ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งต้นกำเนิดของต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง และในปัจจุบัน แหล่งปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งที่ให้ผลผลิตคุณภาพดีที่สุด คือ ตำบลหนองโสน ตำบลบ้านกุ่ม โดยทุกวันนี้ ชมพู่เพชรสายรุ้งปลูกกระจายทั่วจังหวัดเพชรบุรี เช่น อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ชมพู่เพชรสายรุ้ง ถือเป็นสุดยอดผลไม้อร่อยแล้ว ยังได้รับการจดสิทธิบัตรขึ้นทะเบียนเป็นผลไม้ที่ถือกำเนิดจากจังหวัดเพชรบุรี สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองเพชร และเกษตรกรที่ทำสวนชมพู่เพชรสายรุ้งเป็นอย่างยิ่ง

โดยในปัจจุบัน บอกเลยว่า ชมพู่เพชรสายรุ้ง นั้น เป็นชมพู่ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก!! เพราะมีราคาขายหน้าสวนสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาทกว่า ราคาขึ้นลงแล้วแต่ว่าจะเป็นช่วงไหนออกมากหรือน้อย หรือกว่าที่ไปถึงมือผู้บริโภคนั้น ราคาก็ขยับสูง 400-500 บาทแล้ว และถึงแม้จะมีราคาแพงมากแค่ไหน แต่ยังมีผู้บริโภคอยู่จำนวนมาก ซึ่งก็นิยมซื้อชมพู่เพชรสายรุ้ง เพื่อเป็นของขวัญของฝากผู้ใหญ่ที่นับถือ…

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ชมพู่เพชรสายรุ้งเริ่มไปที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากทางหน้าสวนเอง ได้มีการนำไปขายออกท้องตลาด หรือขายผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ และในทุกวันนี้ เกษตรกรผู้ปลูกชมพู่เพชรสายรุ้ง ได้ผลผลิตน้อยกว่าปริมาณความต้องการของตลาดในตอนนี้ จึงเกิดเหตุการณ์ที่พ่อค้าแม่ค้า ฉวยโอกาสนำชมพู่ที่มีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์เพชรสายรุ้ง มาย้อมแมวแอบขายกัน จึงทำให้ ณ ปัจจุบันจังหวัดเพชรบุรี จึงจดทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและป้องกันการลอกเลียนแบบของชมพู่เพชรสายรุ้งนั่นเอง …