ประชาชนแห่ชมความสวยงาม ของกระทงสาย ดวงไฟจากกะลา ที่ จ.นครพนม

แห่ชมดวงไฟ จากกะลาลอยไข่พญานาคกลางแม่น้ำโขง ปล่อยบูชาพญานาคี วันละหลายหมื่นดวง

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ จ.นครพนม บรรยากาศการท่องเที่ยวงาน ประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ และงานกาชาดประจำปี 2564 คืนที่สองนั้น ยังคงคึกคัก เต็มไปด้วยประชาชน และนักท่องเที่ยวบางส่วนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว พักผ่อน และรอชมไหลเรือไฟโชว์ ถึงแม้ปีนี้ จะงดการจัดประกวดไหลเรือไฟที่ยิ่งใหญ่ เน้น ท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอล ลดการแพร่ระบาดของ โรคโควิด 19 กำหนดจัดงานขึ้น ระหว่างวันที่ 18 – 23 ตุลาคม 2564 มีจัดแค่ไหลเรือไฟโชว์ทุกคืน วันละประมาณ 3 ลำ

ที่สำคัญ นอกจากประชาชน นักท่องเที่ยว จะได้ชม เรือไฟ โชว์แล้วนั้น ยังจะได้ตื่นตา ตื่นใจ กับความสวยงามของ กระทงสาย หรือที่เรียกว่า ไข่พญานาค โดยทุกวันทีมเจ้าหน้าที่อส. จะมีการนำกระทงสายที่ประดิษฐ์จากกะลามะพร้าวนำมาตัดครึ่ง เป็นลักษณะคล้ายกระทะตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จากนั้นจะมีการนำขี้เลื่อยมาทำส่วนผสมกับน้ำมันดีเซล รวมกับขี้ใต้ยางไม้มาผสมตามสัดส่วน แล้วนำบรรจุเป็นเชื่อเพลิงลงในกะลา ก่อนขนลำเลียงลงเรือหางยาว วันละเกือบ 10,000 ดวง ไปตั้งจุดวางทุ่นปักหลักปล่อย กระทงสาย ตั้งแต่ต้นน้ำโขง จากจวนผู้ว่าราชการหลังเก่า ไหลยาวเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ไปตามน้ำโขงตามแนวถนนสุนทรวิจิตรในเขตเทศบาลเมืองนครพนม กลายเป็นแสงไฟระยิบระยับ สวยงามเต็มแม่น้ำโขง ถือเป็นอันซีนของงานประเพณีไหลเรือไฟทุกปี ที่สร้างความสวยงาม ตื่นตา ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวทุกปี

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญ ที่สร้างความประทับใจให้กับประชาชนนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความสวยงาม อีกทั้งยังเป็นประเพณีโบราณที่ถือปฎิบัติกันมาทุกปี เชื่อว่า เป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในน้ำโขง และปู่พญานาคเป็นสิริมงคลในช่วง ออกพรรษา ซึ่งยอมรับว่าแต่ละวันทีมอส. ต้องยอมเหนื่อย และต้องมีความชำนาญ ในการปล่อยกะลามะพร้าวที่จุดดวงไฟ ไหลตามแม่น้ำโขง และต้องมีความชำนาญ หากไม่ชำนาญจะทำให้กะละถูกน้ำพัดจมในขณะที่ปล่อยลงน้ำ ถือเป็นความภาคภูมิใจของกำลังเจ้าที่อส. ที่ได้อยู่เบื้องหลังความสวยงาม และเป็นการสืบสานประเพณีจากความเชื่อ ความศรัทธา ยิ่งวันคืน ออกพรรษา จะปล่อยมากถึง 20,000 – 30,000 ดวง ถึงจะเหนื่อยแต่ทุกคนภาคภูมิใจ