ผลกระทบอีกด้านของ ลัมปีสกิน คนไม่กล้ากินเนื้อวัว ร้านลาบก้อยยอดตกวูบ

เจ้าของกิจการร้านลาบก้อยกาฬสินธุ์เครียด คนไม่กล้ากินเนื้อวัว เพราะกลัวติด ลัมปีสกิน ยันเนื้อที่ใช้ได้มาตรฐานแน่นอน

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ผู้ประกอบการร้านอาหารอีสานลาบก้อย กาฬสินธุ์ โอด ลูกค้าหายเป็นประวัติการเหตุไม่กล้ากิน เนื้อวัว เพราะกลัวว่าจะเป็นวัวที่ติดเชื้อ ลัมปีสกิน ไหนจะวิกฤต โควิด ที่คนไม่ค่อยออกจากบ้านมาซื้อหาอาหารกิน ตอนนี้ชีวิตยิ่งกว่าคำว่าย่ำแย่อีก ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวก็ช้ำไม่แพ้กัน วัวติดโรคต้องรักษาตามอาการรอวัคซีนจากปศุสัตว์ช่วย

จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบหนักจากโรคลัมปีสกิน โรคตุ่มบนผิวหนังวัว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรคฝีดาษวัว ในหลายพื้นที่อำเภอของจังหวัด ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์ว่าพบใน 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ 318 ตัว เสียชีวิต 17 ตัว, อ.ยางตลาด 39 ตัว, อ.กุฉินารายณ์ 34 ตัว เสียชีวิต 3 ตัว, อ.สามชัย 11 ตัว, อ.หนองกุงศรี 4 ตัว, อ.กมลาไสย 3 ตัว, อ.ร่องคำ 3 ตัว, อ.เขาวง 2 ตัว, อ.ท่าคันโท 1 ตัว รวมพบวัวป่วยจำนวน 415 ตัว และเสียชีวิต 20 ตัว ขณะที่ อ.ห้วยผึ้ง อ.ห้วยเม็ก อ.นามน อ.สมเด็จ อ.นาคู อ.ฆ้องชัย อ.ดอนจาน อ.คำม่วง และ อ.สหัสขันธ์ ยังไม่มีรายงานพบวัวป่วยด้วยโรคลัมปีสกิน แต่อย่างใด

โดยนางหนูรัก ร่องวารี อายุ 57 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวบ้านหนองห้าง ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ลูกวัวของตนมีอาการป่วยด้วยโรคลัมปีสกินมาตั้งแต่อายุได้ 1 เดือนเศษ ทีแรกตกใจมาก เนื่องจากเกิดตุ่มพองและบาดแผลตามผิวหนังของลูกวัว ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนจึงไม่รู้วิธีการรักษา จากนั้นได้ไปแจ้งผู้นำชุมชนและอาสาปศุสัตว์ ซึ่งได้รับคำแนะนำให้รักษาตามอาการ โดยไปนำเปลือกต้นประดู่มาต้มน้ำร้อน จากนั้นนำน้ำต้มเปลือกประดู่มาชโลมตามตัวลูกวัว ทั้งนี้เป็นการรักษาโรคผิวหนังที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงตามภูมิปัญญา เพื่อป้องกันแมลงและช่วยบรรเทาอาการ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ทุกวันนี้ยังรอความช่วยเหลือ ทั้งยา หรือวัคซีน รวมทั้งคำแนะนำวิธีบำบัดรักษาที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่

มาที่ฝั่งของผู้ค้าด้านนางศิริพร เงาแสง อายุ 48 ปี แม่ค้าขายอาหารพื้นบ้านอีสาน บริเวณปากทางเข้าเขื่อนลำปาว ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเปิดร้านขายอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม ซึ่งเป็นเมนูเด็ดยอดฮิตของชาวอีสานโดยการนำเนื้อวัวสดมาเป็นเมนูหลักประจำร้าน เปิดบริการมาเกือบ 30 ปี ซึ่งจะขายดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ปริมาณการขายเริ่มลดลง เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ลูกค้าไม่ค่อยเข้าร้าน แต่จะเป็นในส่วนของการซื้อห่อไปรับประทานที่บ้านมากกว่า ทำให้เนื้อสดเหลือ ขายไม่หมด ต้องนำมาแปรรูปเป็นเนื้อแดดเดียว และส้มวัว แต่ก็พอขายได้เรื่อย ๆ

นางศิริพร กล่าวเพิ่มว่า ที่ผ่านมาจากที่เคยรับเนื้อวัวสดจากโรงฆ่าสัตว์เข้าร้านวันละ 50-80 กิโลกรัม พอเกิดสถานการณ์โควิดก็ลดลงมาเหลือวันละ 40-50 กิโลกรัมเท่ากับขั้นต่ำที่เคยซื้อ ซึ่งก็พอที่จะประคับประคองมาเรื่อย ๆ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาเจอกับสถานการณ์อีก 1 โรค คือโรคลัมปีสกิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคฝีดาษวัว ยิ่งทำให้บรรยากาศการค้าขายลาบ ก้อย เงียบเหงาไปเลยทีนี้ จากการสอบถามร้านค้าและผู้จำหน่ายอาหารประเภทเดียวกัน ทั้งเขียงเนื้อในตลาดสดและผู้ค้ารายย่อยก็ต่างประสบปัญหาเหมือนกันทั้งหมด คืออาหารประเภทเนื้อวัวขายไม่ได้เลย สำหรับตนยอดขายตกต่ำกว่า 30% ทีเดียว ตนจึงอยากจะฝากไปถึงลูกค้า ผู้นิยมเปิบเมนูลาบก้อยของแซบอีสานว่า วัวทุกตัวที่นำไปชำแหละที่โรงฆ่าสัตว์ หรือเนื้อวัวทุกตัว ได้รับการรับรองมาตรฐานผ่านการรับรองความปอดภัยจากปศุสัตว์ทุกตัว ขอให้ลูกค้าเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่นำวัวที่มีอาการเจ็บป่วย หรือเป็นโรคลัมปีสกินไปเชือดที่โรงฆ่าสัตว์แล้วนำมาจำหน่ายเด็ดขาด ถึงแม้โรคลัมปีสกินจะไม่ติดจากวัวสู่คนก็ตาม

เห็นใจทั้งคนเลี้ยงวัว ทั้งคนค้าขายอาหารที่ต้องใช้เนื้อวัวชูโรงอย่าร้านอาหารอีสานจริง ๆ นะคะ เพราะหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจกระบวนการผลิตเนื้อวัวเข้าสู่ตลาดเนื้อสด ว่าต้องได้รับมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ก่อนที่จะชำแหละ เขาถึงได้เตือนนักเตือนหน้าว่าอย่ารับประทานเนื้อเถื่อน ขอยืนยันอีกเสียงว่าเนื้อวัวที่ซื้อในตลาดทางได้นะคะ หรือถ้าให้ชัวร์ก็เช็คสัญลักษณ์ ปศุสัตว์OK ตามร้านค้าเนื้อด้วยเพื่อความมั่นใจค่ะ