รู้จัก โรคพีอาร์อาร์เอส หรือโรคเพิร์ส โรคในหมูที่ป้องกันได้

โรคพีอาร์อาร์เอส โรคคร่าชีวิตที่หมูคนเลี้ยงไม่อยากเจอ ป้องกันได้เพียงรู้ !

จากที่วันนี้ (25 พ.ค. 64) ทีมงาน จันลั่นทุ่ง ได้นำเสนอเรื่องหมูที่ติด โรคพีอาร์อาร์เอส หรือโรค เพิร์ส จนต้องทำลายทิ้ง จึงได้ทำการหาข้อมูลของโรคนี้โดยได้ข้อมูลมาจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ มาฝากกันค่ะ

โรคพีอาร์อาร์เอส เป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจใน สุกร ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูล Arteriviridae เชื้อไวรัสสามารถขับออกมาจากร่างกายของสุกรป่วยทางอุจจาระ ปัสสาวะ ลมหายใจ และน้ำเชื้อ ซึ่งสามารถติดต่อหรือแพร่ไปยังสุกรตัวอื่น ๆ ได้โดยการกินหรือการสัมผัสโดยตรง เช่น การดม การเลีย หรือการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อทางระบบทางเดินหายใจหรือผ่านวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ภายในฟาร์มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส

อาการ

โดยลำพังเชื้อไวรัสพี อาร์ อาร์เอส เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้สุกรแสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด แต่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นมาประกอบกัน จึงทำให้แสดงอาการของโรคได้ อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัส การจัดการดูแลสุขภาพสัตว์ความสะอาดในฟาร์ม การถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือน และสุขภาพของสุกรในฝูง เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส ครั้งแรกในฝูงเชื้อจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วสุกรจะมีไข้สูงนอนสุมกันตัวแดงไม่กินอาหาร สุกรพันธุ์จะแท้งมีลูกตายแรกคลอด หรืออ่อนแอ อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือท้องเสียขึ้นอยู่กับภาวะโรคที่แทรกซ้อน เชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดในฟาร์มนี้จะกระตุ้นให้สุกรส่วนใหญ่สร้างภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้นเชื้อจะแพร่ระบาดในฟาร์มอย่างช้า ๆ การสูญเสียจะไม่รุนแรงส่วนใหญ่สร้างภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้น เชื้อจะแพร่ระบาดในฟาร์มอย่างช้า ๆ การสูญเสียจะไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะแอบแฝง เช่น ผลผลิตต่ำหรือมีการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรียหรือไวรัสตัวอื่น ๆ ซึงปัญหาที่พบหลังจากที่ผ่านการระบาดครั้งแรกมาคือปัญหาระบบทางเดินหายใจในสุกรหย่านม เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคที่ได้รับถ่ายทอดจากแม่ลดลง

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคโดยการตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคต่อเชื้อพีอาร์อาร์เอส และการตรวจแยกพิสูจน์เชื้อ โดยการเก็บตัวอย่างซีรั่มจากแม่สุกรที่แท้งลูก สุกรที่แท้งหรือตายแรกคลอด ซีรั่มของลูกสุกรป่วยหรืออวัยวะ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ทอนซิล ม้าม ปอด หรือส่งทั้งตัว โดยแช่เย็นในกระติกน้ำแข็ง และนำส่งทันที ถ้าไม่สามารถส่งตรวจได้ในวันนั้นให้เก็บแช่ช่องแข็งและควรส่งตรวจภายใน 3 วัน โดยส่งตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการที่รับผิดชอบพื้นที่

การติดต่อของโรค

เชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาจากร่างกายของสุกรป่วย ทางอุจจาระ ปัสสาวะ ลมหายใจ และน้ำเชื้อ และติดต่อไปยังสุกรตัวอื่นโดยการกิน หรือการสัมผัสโดยตรง เช่น การดม การเลีย หรือการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านอากาศที่หายใจ หรือผ่านวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในฟาร์มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดจากฟาร์มหนึ่งไปยังอีกฟาร์มหนึ่งได้โดยการเคลื่อนย้ายสุกรป่วย หรือสุกรที่เป็นพาหะของโรคเข้ามารวมฝูง โดยทั่วไปพบว่าเชื้อไวรัสที่ ถูกขับออกจากร่างกายสุกรป่วย สามารถแพร่กระจายจากจุดเกิดโรคไปในอากาศได้ไกลถึงรัศมี 3 กิโลเมตร และหากมีองค์ประกอบของแรงลมเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจทำให้โรคแพร่ กระจายได้ไกลขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าโรคสามารถแพร่ระบาดผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ ไปยังฟาร์มอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะการผสมเทียม หรือแพร่เชื้อ ผ่านวัสดุ อุปกรณ์ หรือยานพาหนะ ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส รวมทั้งนก หนู หรือบุคลากรจากฟาร์มหนึ่งไปอีกฟาร์มหนึ่ง ส่วนการแพร่เชื้อไวรัสผ่านเนื้อสุกรหรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรยังไม่เป็นที่ชัดเจน

การรักษา

เนื่องจากโรคพีอาร์อาร์เอส มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสจึงยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ การรักษาสุกรที่ป่วยโรคนี้ จึงเป็นการรักษาตามอาการป่วย และการบำรุงร่างกายสัตว์ป่วยเช่น การให้สารเกลือแร่ วิตามิน การเปลี่ยนสูตรอาหารที่ให้พลังงานสูง และให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งอาจให้โดยการฉีดผสมน้ำ หรือผสมอาหาร

การป้องกันโรค

1. สุกรที่จะนำเข้ามาทดแทนในฝูง ควรมาจากแหล่งที่ปลอดเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส

2. ก่อนจะนำสุกรใหม่เข้ามารวมฝูง ควรทำการกักกันอย่างน้อย 2 ขั้นตอน คือ กักที่ต้นทางก่อนการเคลื่อนย้าย และกักที่ปลายทางก่อนนำเข้ารวมฝูง ซึ่งระหว่างที่กักควรสุ่มตรวจหาโรคโดยวิธีทางซีรั่มวิทยาด้วย

3. จำกัดและควบคุมการเข้าออกฟาร์ม โดยอาจให้มีการเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม

4. ไม่ให้รถขนอาหารเข้าไปในสถานที่เลี้ยงสุกร

5. ไม่เข้าไปดูหรือสัมผัสกับสุกรฝูงที่แสดงอาการป่วย

6. ปัจจุบันวัคซีนสำหรับป้องกันโรคพีอาร์อาร์เอส ที่มีอยู่ ยังมีข้อจำกัดในการใช้อยู่หลายประการซึ่งเกษตรกรควรคำนึงถึง ดังนี้

6.1 ราคาแพง ดังนั้นควรคำนึงถึงความคุ้มทุนโดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการทำวัคซีน เพราะโรคนี้หากมีการจัดการที่ดีจะไม่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง

6.2 ชนิดของเชื้อที่นำมาทำวัคซีน หากไม่ใช่เชื้อชนิดเดียวกัน หรือใกล้เคียงกับชนิดที่ทำให้เกิดโรคในฟาร์มจะให้ภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่ดี

6.3 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นและตรวจพบจากซีรั่มไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดจากวัคซีนหรือการติดเชื้อ

6.4 วัคซีนที่ผลิตจากเนื้อเยื่อที่ไม่บริสุทธิ์ อาจนำโรคอื่นๆ ติดมาถึงสุกรได้

6.5 การใช้วัคซีนเป็นเชื้อไวรัสสามารถผ่านออกมาทางน้ำเชื้อได้เป็นเวลานาน และอาจมีผลให้ตัวอสุจิมีรูปร่างผิดปกติและเคลื่อนไหวช้าลง นอกจากนี้ในสุกรอุ้มท้อง อาจผ่านรกไปถึงลูกอ่อนทำให้เกิดการติดเชื้อในลูกอ่อนได้

โรคพีพีอาร์เอส ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดขอเพียงรู้ทันฉีดวัคซีนป้องกันไว้ดีกว่าต้องมารักษาทีหลังให้เสียทรัพย์ ถ้ารักษาไม่หายจากตัวสู่หลายตัวเสียหายหมดเงินหลายแน่ ๆ ค่ะ