ลดการเผานาเน้นใช้เทคโนโลยีจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ สร้างรายได้

เปลี่ยนจากการเผาฟางข้าวในนา เสริมเทคโนโลยี สร้างรายได้

เกษตรฯ รณรงค์เข้ม สร้างเครือข่าย ลดการเผาในพื้นที่ภาคกลาง ที่ จ.ชัยนาท เน้นใช้เทคโนโลยีจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาหมอกควัน

โดยจากฐานข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) ในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีจุด Hotspot ในพื้นที่การเกษตรภาพรวม ระหว่างเดือน มกราคม – พฤษภาคม 2564 จำนวน 360 จุด คิดเป็นพื้นที่ 18,031 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ปลูกข้าว สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาในชุมชนต้นแบบ 12 ชุมชน และพบว่า หลายพื้นที่ประสบความสำเร็จทั้งลดการเผาและสร้างรายได้แก่ชุมชนจากการผลิตและจำหน่ายฟางก้อน ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากใบอ้อย ข้าวโพด ฟางข้าว การเพาะเห็ดจากฟางข้าว ผลิตปุ๋ยหมัก และจำหน่ายน้ำหมักย่อยสลายตอซัง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.5 ล้านบาทต่อปี

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2564 ภาพรวมทั้งประเทศ จากการสำรวจจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2564 Gistda พบจุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทย จำนวน 12,705 จุด ลดลงจากเดิมในปี 2563 ซึ่งพบจุดความร้อน จำนวน 26,310 จุด คิดเป็นร้อยละ 51.71 โดยอยู่ในพื้นที่การเกษตร จำนวน 3,320 จุด ลดลงจากเดิมในปี 2563 จำนวน 6,285 จุด คิดเป็นร้อยละ 47.17 โดยในปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่การเกษตรในเขตจังหวัดภาคกลางให้เป็นศูนย์หรือน้อยกว่าปี 2564 โดยใช้กลไกเครือข่ายเกษตรกร ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เครือข่ายอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และ CoF หรือเกษตรกรผู้นำ 1 ต่อ 10 ครัวเรือนเกษตรกร ทำหน้าที่สื่อสารสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการเผาในพื้นที่การเกษตร และจัดงานรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อกระตุ้นสร้างการรับรู้ให้เกษตรกร นำเสนอทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่การทำการเกษตรแบบปลอดการเผาเพิ่มมากขึ้น จนมีพื้นที่การเผาในพื้นที่การเกษตรเป็นศูนย์ เป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศ รักษาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG Model ด้านการเกษตร