เกษตรกรอำนาจเจริญเครียด ลัมปีสกิน ระบาดในเมือง ติดเชื้อแล้วกว่า 50 ตัว

อำนาจเจริญโดนแล้ว ลัมปีสกิน โรคตุ่มในวัว ตอนนี้ในเมืองติดแล้วกว่า 50 ตัว เกษตรกรหวั่นถ้าติดหมดจังหวัดแย่แน่ วอนรัฐเร่งเข้าจัดการปัญหา

ตามที่เราเคยนำเสนอเรื่องโรค ลัมปีสกิน โรคผิวหนังที่เกิดในวัวควาย ที่ตอนนี้ยังคงแพร่กระจายไม่หยุดยังคงระบาดใหญ่แถวภาคอีสานบ้านเรา ตอนนี้ลามไปยังจังหวัด อำนาเจริญ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีวัวติดเชื้อแล้วกว่า 50 ตัว เกษตรกรเคร่งเครียดวอนปศุสัตว์จังหวัดเร่งแก้ปัญหาก่อนลุกลามไปมากกว่านี้

วันนี้ (19 พ.ค.64) นายอมรเทพ บุญเรือง เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวที่ บ้านกุดปลาดุก ต.กุดปลาดุก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ได้เล่าให้เราฟังว่าได้เลี้ยงวัวไว้ 10 ตัว เป็นวัวพันธุ์ผสม ป่วยเป็นโรคมีจุดทั่วทั้งลำตัว และมีน้ำลายยืดเป็นฟอง และมีไข้ ขาทั้ง 4 ข้างอ่อนแรง ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ ป่วยมาได้ 7 วันแล้ว

ตอนนี้วัวในหมู่บ้านก็ติดเชื้อทั่วหมู่บ้านแล้วมากกว่า 20 ตัวเลยทีเดียว ซึ่งตนเองและชาวบ้านก็ไม่เคยรู้ไม่เคยเจอโรคตุ่มแบบนี้ที่วัวเลยตั้งแต่เลี้ยงวัวมา ต่างก็คิดว่าเดี๋ยวคงหายเอง แต่มาตอนนี้รู้แล้วว่าวัวเป็นโรค ลัมปีสกิน จึงได้แยกวัวที่ติดเชื้อออกแยกไปจากวัวตัวอื่น ๆ จากวัวชาวบ้าน แต่ก็ไม่วายโรคมาติดวัวของตนจนได้

สงสารวัวเพราะอาการรุนแรงแต่ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไรโดยวัวที่เป็นโรคนั่นมักจะเป็นวัวที่มีอายุ 5 เดือน ถึง 1 ปี ส่วนวัวที่อายุมากแล้วก็มีโอกาสติดแล้วตายได้เหมือนกัน ขึ้นอยุู่กับภูมิต้านทานของวัวแต่ละตัว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองที่วัวเป็นโรคลักษณะเดียวกันนี้ รวมทั้งอำเภอเมืองไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ตนและชาวบ้านจึงอยากวอนให้ทางปศุสัตว์จังหวัดเร่งดำเนินการช่วยเหลือโดยด่วนที่สุด

โรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่เจอในประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อไวรัสชนิดนี้ ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุมีลักษณะอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย อัตราการตายน้อยมาก โรคนี้มีแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด ริ้น เหลือบ ไร ยุง เป็นพาหะที่สำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ

นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรงผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรก โดยจะพบเชื้อไวรัสในเลือดสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเฉลี่ยพบได้ประมาณ 7-21 วัน หลังติดเชื้อ การป้องกันโรคทำได้โดยการกำจัดแมลงพาหะนำโรค ด้วยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำหรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่

ซึ่งโรคลัมปีสกินยังไม่มียารักษา หรือวัคซีนป้องกันด้วย ทำได้เพียงรักษาไปตามอาการที่เป็น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือขอให้ระวังโรคนี้ไว้ด้วยนะคะ ถ้าเกิดกับวัวโตถ้ารักษาดูแลทันก็รอด แต่ถ้าเกิดกับวัวท้องหรือวัวเพิ่งคลอดบอกได้เลยค่ะ โอกาสในการตายมีเยอะมาก