เกษตรกร สกท. รวมตัวเรียกร้อง ธ.ก.ส. ลดดอกเบี้ยชำระหนี้

ลุกฮือ! เกษตรกร สกท. กว่าพันคน เรียกร้อง ธ.ก.ส. ลดดอกเบี้ยชำระหนี้

กลุ่มเกษตรกร สกท.ทั่วประเทศ เรียกร้อง ธกส. ลดดอกเบี้ยชำระหนี้ พร้อมปักหลักกดดันถึงวันที่ 24 ก.พ.นี้!

เช้าวันนี้ (22ก.พ.64) กลุ่มเกษตรกรสหพันธ์เครือข่ายเกษตรกรแห่งประเทศไทย หรือ สกท.จากทั่วประเทศ กว่า 1,000 คน เดินทางมาที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เพื่อขอ ลดดอกเบี้ยชำระหนี้

นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก. คนที่ 1 และที่ปรึกษา สกท. กล่าวว่า วันนี้มาเจรจากับธนาคาร ธ.ก.ส. 2 เรื่อง นั้นคือ ให้ทบทวนมติการตัดเงินต้นลงครึ่งหนึ่ง และลดดอกเบี้ยการชำระหนี้ให้กับ เกษตรกร รวมทั้งเสนอให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซื้อหนี้มาบริหารเอง โดยที่เกษตรกรนั้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เพื่อช่วยเกษตรกรให้มีรายได้พอเริ่มต้นในการทำการเกษตรต่อไป

ขณะที่นางลัดดา อินทกูล เกษตรกรองค์กรเกษตรและธรรมชาติ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตนเองเป็นเกษตรกรปลูกสัปปะรด เดินทางมาจากบ้านตั้งแต่ 4 ทุ่มและถึงที่รวมตัวกันตอนตี 3 ซึ่งการเดินทางมาวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้ธกส.ทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับเกษตรกร

ด้านเกษตรกร จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เดินทางมาจากบ้านตั้งแต่ 17.00 น.ของวันที่ 21 ก.พ.64 โดยมาถึงที่ ธ.ก.ส. สาขาบางเขน เวลาตี 3 ซึ่ง การเดินทางมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในวันนี้ เพราะได้รับผลกระทบทั้งจากเรื่องโควิด และสินค้าเกษตรไม่ได้ราคาเท่าที่ควร พร้อมขอให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เข้ามาช่วยตัดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเกษตรกรให้สามารถลืมตาอ้าปากได้

ส่วนการรวมตัวกันของเกษตรกร สกท.ในวันนี้ จะเดินทางไปที่กระทรวงการคลังต่อ เพื่อกดดัน ให้ธนาคารธกส.รับข้อเสนอการลดอัตราดอกเบี้ย ชำระหนี้ โดยค้างคืน บางส่วนหอบเสื่อ มุ้ง อาหารมาด้วย และในวันพรุ่งนี้ กลุ่มเกษตรกร สกท. จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างธกส.และตัวแทนเกษตรกร ในวันที่ 24 ก.พ.64 ซึ่งหากผลการหารือไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ จะยังคงปักหลักที่ธนาคาร ธกส. สาขาบางเขน ต่อไป

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รายงานว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว เบื้องต้นธนาคารรับเรื่องไว้ ก่อนเสนอไปยังบอร์ดที่ประชุมให้ลงความเห็นต่อไป พร้อมชี้แจงว่า กระบวนการจัดการหนี้ จะอยู่ในกรอบของพระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ และการลดอัตราดอกเบี้ย หรือไม่ต้องชำระดอกเบี้ยนั้น เป็นอำนาจตัดสินใจของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการจัดการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย