เตือนภัยชาวเกษตรกรชาวสวนมะม่วง เรื่องการระบาด “เพลี้ยไฟพริก”

เตือนภัย!!! ฤดูกาลเพลี้ยไฟพริกระบาด เกษตรกรชาวสวนมะม่วงต้องระวัง!!!

จันลั่นทุ่งวันนี้จะออกมาเตือนชาวเกษตรกรชาวสวนมะม่วงให้ระวังกันเพราะในช่วงนี้เป็นช่วงของการระบาดของเพลี้ยไฟพริก ในมะม่วง

เพื่อที่จะให้เกษตรกรชาวสวนมะม่วงได้ระวังและเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงทีและในวันนี้จันลั่นทุ่งก็มีวิธีการรับมือและแนวทางป้องกันเจ้าเพลี้ยไฟกันมาฝากกันจ้า

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นในตอนกลางคืน และมีแดดแรงในตอนกลางวัน เตือนผู้ปลูกมะม่วง ในระยะใบอ่อน-แทงช่อดอก เตรียมรับมือเพลี้ยไฟพริก เพลี้ยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อและดูดน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก ช่อดอก

การทำลายในระยะติดดอกจะทำให้ดอกร่วงไม่ติดผลหรือทำให้ติดผลน้อย ส่วนอาการที่ปรากฏบนยอดอ่อนจะทำให้ใบที่แตกใหม่แคระแกร็น ส่วนขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจจะร่วงตั้งแต่ยังเล็ก ๆ สำหรับใบที่มีขนาดโตแล้ว เพลี้ยไฟมักจะลงทำลายบริเวณใบอ่อนโดยเฉพาะหลังใบทำให้ใบม้วนงอและปลายใบไหม้ ถ้าเป็นการทำลายที่ยอดจะรุนแรง ทำให้ยอดแห้งไม่แทงช่อใบหรือช่อดอก

1. ถ้าพบไม่มากให้ตัดส่วนที่แมลงระบาดไปเผาทิ้ง เพราะเพลี้ยไฟมักอยู่กันเป็นกลุ่ม จะอยู่บริเวณส่วนยอดอ่อนของพืช

2. การพ่นสารฆ่าแมลง ควรพ่นระยะติดดอกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะเริ่มแทงช่อดอกและระยะเริ่มติดผลขนาดมะเขือพวง (ประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร) ถ้าหากพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรงให้พ่นซ้ำในระยะก่อนดอกบาน

3. สารฆ่าแมลงที่แนะนำ คือ สไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะบาเมกติน 1.8% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซแอนทรานิลิโพรล 10% โอดี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

* ในขณะที่ดอกบานควรหลีกเลี่ยงการใช้สารดังกล่าว เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสรได้