โควิด ระลอกนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ มอบ 200 ล้าน ให้ รพ.จุฬา จัดทำ รพ.สนาม

เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทุ่มงบกว่า 200 ล้านบาทมอบแด่ รพ.จุฬา เพื่อจัดทำรพ.สนาม เร่งดำเนินการไวที่สุดเพื่อช่วยคนไทยพ้นวิกฤต โควิด ระลอกนี้

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.64 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ อดีตประธานกรรมการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร พร้อม ผู้บริหาร รพ.จุฬาฯ ได้จัดแถลงเรื่องการช่วยเหลือในสถานการณ์ โควิด -19 ระลอกใหม่นี้ ผ่านทาง VROOM

โดยนายธนินท์กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ วันนี้ (18 เม.ย.64) นับว่าเป็นวันที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อสูงสุดอีกวันหนึ่ง มีผู้ติดเชื้อมากถึง 1,767 ราย ทำให้ผู้ป่วยสะสมในโรงพยาบาลสูงถึง 13,568 ราย ซึ่งโรงพยาบาลก็เริ่มประสบปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลสนาม 571 ราย ซึ่งต่อไปจะมีตัวเลขสูงมากขึ้น ซึ่งต้องขอชื่นชมทั้งทีมแพทย์และพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่เสียสละดูแลรักษาผู้ป่วย เปรียบเหมือนกับการอยู่ในสนามรบที่มองไม่เห็นศัตรู และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ภาคเอกชนจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสู้รบในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์เอง ได้เตรียมงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเรื่องโรงพยาบาลสนาม ของโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเน้นไปที่สิ่งที่เครือทำได้เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และเสริมอุปกรณ์การแพทย์ที่ขาด โดยทุกบริษัทในเครือฯ จะผนึกกำลังเพื่อเป็นทีมเสริมช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละเป็นอย่างมาก อย่างเต็มที่ เริ่มต้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 50 ล้านบาท ส่วนเงินที่เหลือจะส่งไปต่อยอดไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ เช่น รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.ตำรวจ รพ.ของทหาร เป็นต้น พร้อมกับฝากถึงรัฐบาลว่า หากเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานเองได้ ก็จะถือว่าเป็นการลดภาระภาครัฐ โดยเอกชนออกค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดหาวัคซีนสำหรับพนักงาน ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้

ด้านศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง คนไข้มีจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เตรียมการโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับบุคลากร และนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในลำดับแรก และในลำดับถัดไปก็จะให้บริการเปิดให้กับผู้ป่วยประชาชนทั่วไปที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการด้วย ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ก็ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยอาการปานกลางจนถึงอาการหนัก ซึ่งทางโรงพยาบาลขอขอบคุณทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เป็นองค์กรเอกชนที่มีความตั้งใจดี ในการเข้ามาสนับสนุนดำเนินโครงการทั้งเรื่องโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ให้ประสบความสำเร็จและผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

ศ.ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนายการ โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฯ กล่าวว่า สถานการณ์ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น มีแนวโน้มที่โรงพยาบาลจะรองรับได้ไม่ครบถ้วน ทำให้โรงพยาบาลได้ประชุมเพื่อร่วมกันต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยจับมือกันเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยจะเน้นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการก่อน ซึ่ง รพ.สนาม นี้ จะรองรับผู้ป่วยได้ 100 เตียง จัดตั้งที่อาคารจันทนยิ่งยง ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้านแล้ว โดยจะเริ่มให้บริการได้ในสัปดาห์หน้า

นายธนินท์ กล่าวเสริมว่า ตนเชื่อมั่นว่าคนไทยและประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตโควิดนี้ไปได้อย่างแน่นอน ขอเพียงทุกคน ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันตามกำลังความสามารถ การรับมือด้านสาธารณสุขมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมกันนี้จะจัดส่งอาหารครบ 3 มื้อให้กับโรงพยาบาลสนามของ รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ รวมถึง Hospitel อีก 4 แห่งในความรับผิดชอบของ รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ และจะให้กลุ่มทรูจัด ไวไฟบริการฟรีในโรงพยาบาลสนามของจุฬาลงกรณ์ที่จะเปิดใหม่นี้ด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องคนไทยจะก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในเร็ววันนี้