ไขปริศนา ทำไมราคาหมูถึงแพงขนาดนี้?

หมูแพง เกิดจากอะไร? ทำไมราคาหมูในประเทศ ถึงพุ่งสูงจนน่าตกใจ…

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ บอกว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู กำลังเผชิญกับปัจจัยลบหลายอย่าง ทั้งปัญหา น้ำท่วม ที่สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายพื้นที่ และยังมี โรคระบาดPRRS หรือ โรคเพิร์ส ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้แม่พันธุ์หมูเสียหายไปมากกว่า 300,000 ตัว ส่งผลให้ฟาร์มหมูขุน ได้รับความเสียหายไป 30% ทั้ง เกษตรกร รายย่อย รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่

อีกทั้ง ยังมีผลกระทบจาก สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การบริโภคเนื้อหมูลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว หยุดชะงักลง ทำให้การบริโภคทั้งของผู้บริโภคในประเทศ และนักท่องเที่ยวน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งขณะเดียวกัน เกษตรกร ทุกคนต้องแบกรับ ภาระต้นทุน ค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นแทบทุกตัว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากราคา 8.50 บาท ต่อกิโลกรัม ปรับเพิ่มเป็น 12.50 บาท ต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลือง จากราคา 17 บาท ต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 21 บาท ต่อกิโลกรัม รวมถึงปลายข้าวที่ขณะนี้ราคาขึ้นไปถึงกระสอบละ 1,100 บาทแล้ว

โดยสิ่งที่ เกษตรกร ทุกคน อยากร้องขอคือ ขอให้ผู้บริโภคเข้าใจ ไม่ใช่ว่า เกษตรกร จะขายหมูได้ราคาดีมีกำไร ปัจจุบันนี้ ราคาหมู เป็นที่เกษตรกรขายได้ยังไม่คุ้มกับต้นทุนเสียด้วยซ้ำ เพราะต้นทุนถีบตัวสูงขึ้นไปมากกว่ากิโลกรัมละ 80.03 บาท ยังไม่นับภาวะขาดทุนสะสม ที่ต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้คน เลี้ยงหมู พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันเอง เพื่อประคองอาชีพให้ผ่านพ้นวิกฤติให้ได้ ขอเพียงผู้บริโภค และภาครัฐเข้าใจกลไกตลาดที่เกิดขึ้นจริง

น.สพ.วิวัฒน์ คาดว่าในปี 2565 เกษตรกรจึงจะกลับมาเข้า เลี้ยงหมู ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่คนเลี้ยงตัดสินใจชะลอการเลี้ยง หรือเข้าเลี้ยงสุกรบางลงไม่เต็มการผลิตของฟาร์ม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งจากภาวะโรค PRRS รวมถึงรอดูสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเชื่อว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีที่ภาคอุตสาหกรรมการ เลี้ยงหมู จะกลับมาเป็นปกติ และผู้เลี้ยงกลับมาเลี้ยงหมูได้ 100%