เกษตรกรต้องระวัง ด้วงงวงมันเทศ บุกสวนช่วงหน้าฝน

กรมวิชาการเกษตร แนะชาวสวนมันเทศ วิธีป้องกัน ด้วงงวงมันเทศ บุกสวนช่วงฝนตกหนัก

กรมวิชาการเกษตร แนะให้ เกษตรกรผู้ปลูกมันเทศ ต้องระวัง เพราะสภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกมันเทศ ในระยะ เริ่มลงหัว – เก็บเกี่ยวผลผลิต รับมือ ด้วงงวงมันเทศ ตัวเต็มวัยทำลายทุกส่วนของพืช ในขณะที่ตัวหนอนทำลายในหัวและเถา หัวมันเทศ ที่ถูกด้วงงวงทำลายจะมีลักษณะเป็นทางคดเคี้ยว มีสีเขียวและสีดำ แม้ถูกทำลายเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถรับประทานได้ เพราะมีกลิ่นเหม็นและรสขม หัวมันเทศ ที่ถูกทำลายรุนแรงจะเน่าและมีกลิ่นเหม็น

ซึ่งแนวทางการแก้ไข มีดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการ ปลูกมันเทศ ในแหล่งที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศ

2. หลีกเลี่ยงการปลูก มันเทศ ซ้ำที่เดิม ควรปลูกหมุนเวียนโดยใช้พืชต่างตระกูลกับมันเทศ

3. เลือกใช้เถามันเทศที่สมบูรณ์แข็งแรงและปราศจาก ด้วงงวงมันเทศ และไม่นำเถามันเทศจากแหล่งที่มีการระบาดของ ด้วงงวงมันเทศ มาปลูก

4. กำจัดวัชพืชที่เป็นตระกูลเดียวกันกับ มันเทศ บริเวณรอบ ๆ แปลงปลูกมันเทศออกให้หมด

5. รองก้นหลุมก่อนปลูก ด้วยสารฆ่าแมลง เช่น ฟิโพรนิล 0.3% G อัตรา 2.8 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 4% G อัตรา 2.8 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ ไดโนทีฟูแรน 1% G อัตรา 2.8 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์/ไอโซโปรคาร์บ 3%/3% GR อัตรา 2.8 กิโลกรัมต่อไร่ โรยรอบ ๆ โคนต้นทุก 1 เดือน

6. ในสภาพมันสวน อายุ 4-6 เดือน ก่อนปลูกแช่เถามันเทศด้วยสารฆ่าแมลง ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 5 นาที เมื่อมันเทศอายุ 1 เดือน พ่นสารฆ่าแมลง เช่น อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ที่โคนต้นและเถาด้วย อัตราน้ำ 160 ลิตรต่อไร่ ทุกสัปดาห์

7. ใช้กับดักฟีโรโมน จำนวน 4 กับดักต่อไร่ เมื่อมันเทศอายุประมาณ 1 เดือน

8. ใช้ไส้เดือนฝอยสไตเนอร์นีมา คาร์โปแคปซี(Steinernema carpocapsae) อัตรา 50 ล้านตัวต่อน้ำ 20 ลิตรต่อ 267 ตารางเมตร พ่นหรือราดลงดินในแปลงปลูกมันเทศ เมื่อมันเทศมีอายุได้ 60 วันหลังปลูก และ ใช้ติดต่อกันทุก 15-20 วัน รวม 3-4 ครั้ง

ทั้งนี้ ข้อสำคัญคือ ควรพ่นไส้เดือนฝอยตอนเย็น (หลังเวลา 17.00 น.) ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงแสงอาทิตย์ ในกรณีที่มีอากาศแห้งแล้งควรพ่นน้ำให้ความชุ่มชื้นก่อน