โค่นสวนยาง หลังราคาตก หันมาปลูกสละขาย สร้างรายได้หลักล้าน

ตรัง เกษตรกรชาวสวน ตัดสินใจ ล้มสวนยางพารา เพราะมีราคาตกต่ำ หันมา ปลูกสละสุมาลี สร้างรายได้ หลักล้านต่อปี

อดีตนายก อบต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง ชักชวนญาติพี่น้อง ล้มสวนยางพาราที่มีราคาตกต่ำ แล้วหันมาปลูกสละสุมาลีแปลงใหญ่เนื้อที่ 25 ไร่ ซึ่งได้ผลผลิตต่อรายไม่ต่ำกว่า 12-15 ตันต่อปี และโกยรายได้เกือบ 2 ล้านบาทต่อปี แถมเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี มีลูกค้าแวะซื้อถึงหน้าสวน

ที่สวนสละสุมาลี หมู่ที่ 10 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเป็นสวนสละของนายสมบัติ กุลกิจ อดีตนายก อบต.หนองปรือ ที่ได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ หันมาชักชวนญาติพี่น้องล้มสวนยางพาราที่มีราคาตกต่ำ มารวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ ปลูกสละสุมาลี ตำบลหนองปรือ รวม 4 แปลง เนื้อที่จำนวน 25 ไร่ เพื่อให้เป็นแปลงปลูกสละสุมาลีแปลงใหญ่ในจ.ตรัง

ซึ่งตอนนี้สละสามารถเก็บขายได้แล้วทั้ง 25 ไร่ โดยปีที่ผ่านมา สามารถเก็บสละขายได้จำนวน 40 ตัน ราคาหน้าสวนกิโลกรัมละ 45 บาท ได้เงินกว่า 1,800,000 บาท ในส่วนของนายสมบัติฯ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีเนื้อที่ปลูกทั้งหมด 5 ไร่ ได้ผลผลผลิตจำนวน 12 ตัน ได้เงินกว่า 600,000 บาท โดยในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกสละสุมาลีได้ 40 ต้น แต่ละต้นให้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัม และในปีนี้ ราคาสละสุมาลีได้ปรับขึ้นอีกเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท เนื่องจากตลาดมีความต้องการมากขึ้น จนทำให้สละมีไม่เพียงพอ

ซึ่งตอนนี้ มีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเดินทางมารับซื้อถึงสวน และนำไปขายต่อในราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท ซึ่งสละสุมาลีของตำบลหนองปรือ ปลอดภัยจากการใช้สารเคมีทุกชนิด โดยใช้กับดักล่อแมลงด้วยแสงไฟ และกาวดักแมลง ทำให้ติดผลดก ลูกใหญ่ รสชาติหวานนำอมเปรี้ยวนิด ๆ หอม เนื้อแน่น ชุ่มคอ จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยไม่ได้มีการแปรรูป เนื่องจากขายแผลสดก็แทบไม่พอ

แต่ละปีผลผลิตจะออกไม่เท่ากันในแต่ละเดือน แต่เฉลี่ยต้นละ 100 กิโล พื้นที่ 1 ไร่ปลูก 40 ต้นในส่วนที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนฯมีจำนวน 25 ไร่ โดยมีการแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาและราคา ซึ่งปีที่แล้วขายหน้าสวนกิโลละ 45-50 บาท แต่ปีนี้จะขึ้นเป็น 50 บาท ในส่วนของตนปีที่แล้วประมาณ 12 ตัน ปีนี้คาดว่าน่าจะได้ประมาณ 15 ตัน เพราะต้นที่สองที่สามที่เพิ่งปลูกใหม่เริ่มสมบูรณ์ ผลผลิตมากขึ้น แนวโน้มดีกว่ายางพาราเยอะมาก ซึ่งยางพารากรีด 7 วันยังได้ไม่ถึง 1 ตันแต่สละตัดได้เป็นตัน ต่างกันเยอะ ซึ่งตนมองว่าครอบครัวไหนที่รักการเกษตรก็มาศึกษาดูได้ เพราะพาครอบครัวอยู่รอดแน่นอน