ชาวสวนทุกข์ซ้ำ! ราคายางดิ่งเหลือ 40 บาท/กก. สวนทางค่าครองชีพ

เกษตรกร วอนรัฐเร่งช่วยเหลือ หลังราคายางตกต่ำ ซ้ำยังฝนตกต่อเนื่อง กรีดยางไม่ได้

ปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่จ.ตรัง และเชื่อว่าเหมือนกันหมดทั่วภาคใต้ในขณะนี้ ต้องน้ำตาตก เพราะเหตุ ราคายาง ยังคงตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เหลือกก.ละ 37-40 บาทเท่านั้น

โดยล่าสุด ประกอบกับภาคใต้ฝนตกชุก ทำให้เป็นอุปสรรคในอาชีพกรีดยางพารา เพราะกรีดไม่ได้ ทำให้เดือนที่ผ่านมา ตุลาคมมี 31 วัน แต่ชาวสวนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้กรีดยางเพียง 4 วันเท่านั้น รายได้รวมไม่กี่ร้อยบาท ส่วนที่เหลืออีก 27 วัน ฝนตกหนักกรีดไม่ได้ ส่วนเดือนนี้ (พ.ย.) ผ่านมาเกือบครึ่งเดือนแล้ว ได้กรีดแล้วเพียง 5 วันเท่านั้น และฝนก็ยังคงตกเป็นระยะๆ

ด้านเจ้าของจุดรับซื้อน้ำยางสด ต.ควนปริง อ.กันตัง จ.ตรัง บอกว่า มีสมาชิกขายน้ำยางรวมประมาณ 80 -90 ราย แต่วันนี้ฝนตก มีสมาชิกเสี่ยงภาวะฝนออกมากรีดได้เพียงประมาณ 40 รายเท่านั้น ที่เหลือหยุดกรีด

ขณะนี้ชาวสวนเดือดร้อนหนัก ทั้งราคายางตกต่ำ และฝนตก บางรายที่นำน้ำยางมาขาย บอกว่า ไม่มีสวนยางเป็นของตนเอง ต้องรับจ้างกรีด มีรายได้เพียงเล็กน้อย เพราะต้องแบ่งกับเจ้าของสวน ซึ่งเจ้าของสวนก็มีรายได้น้อยเช่นกัน แต่ต้นทุนการผลิตสูง เพราะปุ๋ยราคายังคงแพง และหลายรายไม่มีเงินซื้อปุ๋ยใส่ เหตุต้องประคองรายรับ -รายจ่ายในครัวเรือน

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่เคยเหลียวแล แก้ปัญหาราคายางตกต่ำอย่างเป็นระบบ ปล่อยให้ชาวสวนยางทั่วประเทศต้องเผชิญชะตากรรม ขณะที่ค่าครองชีพสูงราคาปรับสูงแล้ว ไม่ได้ลดลง แต่ยางพาราเวลาราคาจะขยับขึ้นๆทีละนิดละหน่อย แต่เวลาตกราคาจะร่วงลงมาทันที และภาพรวมอยู่ในภาวะราคาที่ตกต่ำมาโดยตลอด

และในปีนี้ ชาวสวนยางได้ขายน้ำยางสดในราคาสูงสุดที่กก.ละ 65 บาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เป็นแค่ 2 ช่วงสั้นๆครั้งละไม่เกิน 3 วัน หลังจากนั้น ก็จะลงต่ำมาตลอด ต่ำสุดอยู่ที่กก.ละ 37-40 บาท โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่ กก.ละ 37-39 บาท มาวันนี้กก.ละ 40 บาท แต่แนวโน้มก็ยังไม่ดีขึ้น ต่างโอดรัฐไม่ได้เหลียวแลแก้ปัญหาจริงจัง นี่ก็ใกล้จะถึงมีการเลือกตั้งใหม่ ก็เชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ คงลงมาหาเสียง และโปรยความหวังไว้อีก

ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตของชาวสวนยางขณะนี้สูงขึ้น อยู่ที่กก.ละ 64 บาท ทำให้ขณะนี้รายได้ของชาวสวนยางอยู่ที่กก.ละ 37-40 บาท ซึ่งขาดทุนอยู่กก.ละกว่า 20 บาท จึงเดือดร้อนหนัก