ทำไม 376 เสียง ถึงสำคัญต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

ไขข้อสงสัย! ทำไม 376 เสียง ถึงสำคัญต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้วจะได้มาอย่างไร ?

วันนี้ (16 พ.ค.66) บรรยากาศการเมืองที่ตลบอบอวลมาจากการเลือกตั้ง 2566 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ยังมีให้เห็นทั้งในโลกออนไลน์ และออฟไลน์

และดูเหมือนว่าวันนี้จะทวีความอบอวลจนเข้าขั้นครุกรุ่น เนื่องจากกระบวนการได้มาซึ่งการตั้งรัฐบาลยังคงมีอุปสรรค!!!

จนทำให้คนในแวดวงการเมืองออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างขั้วร่วมยกมือโหวตเลือก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องให้พรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ โหวตสนับสนุนให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ คนที่ 30

เศรษฐา ปลุกสปิริต ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ โหวต พิธา นั่งนายกฯ

ส่วน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า จากนี้ไปควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด ร่วมกันสานพลังสร้างชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่าย จะดีกว่าประเทศไทยถึงจะไปต่อได้

ส.ว.อำพล บอกเลือกตั้งสะท้อนเจตนามหาชนชัดเจน-อย่าได้แทรกแซง

ทำไมคะแนน 376 เสียงจึงมีความสำคัญ!

และทำไมใคร ๆ ถึงพูดถึงเรื่องนี้ วันนี้ อีจัน จะมาเล่าให้ฟังค่ะ

ตามไทม์ไลน์การตั้งรัฐบาล 2566 เมื่อรู้ผลการเลือกตั้งแล้วว่าพรรคไหนมีคะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง พรรคนั้นจะทำหน้านที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้

– หลังจัดให้มีการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

-ภายใน 13 กรกฎาคม 2566 กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ครบ 500 คน

-ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

-จากนั้นปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

-และต้นเดือนสิงหาคม 2566 จัดตั้งรัฐบาล ทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

วงตัวใหญ่ๆ ชัดๆ ไว้ที่ ปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

แม้วันนี้รู้แล้วว่า “พรรคก้าวไกล” ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และได้ติดต่อไปยังแกนนำ 5 พรรคการเมืองเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้แก่ พรรคเพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย และอีก 1 พรรค คือ พรรคเป็นธรรม ที่อยู่ระหว่างการประสาน รวมเป็นทั้งหมด 309 เสียง ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก

เพราะการจัดตั้งรัฐบาลต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. 500 คน หรือ 251 เสียง

แต่เสียงที่ พรรคก้าวไกล รวมได้ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มากถึง 309 เสียง ยังไม่เพียงพอหรอ ?

ต้องบอกว่า…ยังไม่เพียงพอในการที่จะโหวตนายกรัฐมนตรี และเดินหน้าทางการเมืองเพื่อบริหารประเทศ

เนื่องจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดหน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไว้ว่า ให้ ส.ว.มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ตามบทเฉพาะกาล ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้กระทำใน “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” ซึ่งประกอบด้วย “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ “สมาชิกวุฒิสภา” มติของรัฐสภาที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ส.ว. กับหน้าที่และอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560

ดังนั้น การที่ พรรคก้าวไกล รวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ 309 เสียง จึงยังไม่เพียงพอที่จะโหวตตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และเดินหน้าการเมืองไทย

เพราะการจะทะลุทะลวงด่านนี้ไปได้ต้องใช้เสียงมากถึง 376 เสียง!!!

จาก ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวม 750 คน

เสียงกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียงนั่นเอง

เมื่อเข้าใจความสำคัญของตัวเลข 376 เสียงแล้ว

จากนี้จับตาดูกันว่า การได้มาซึ่งเสียง 376 เสียงของรัฐบาลใหม่ จะมาจากไหน

จากพรรคการเมืองด้วยกันเอง หรือ จาก ส.ว.